วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ตำนานมหาบุรุษ - มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)



"มีกฎหมายที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ฉบับหนึ่ง ที่ปกครองทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกผู้ที่เกิดขึ้นและมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธกฎหมายหรือผู้ให้กฎหมายนั้น เพราะข้าพเจ้ารู้จักสิ่งเหล่านั้นน้อยมาก พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงปกครองจิตใจและเปลี่ยนแปลงมัน ผู้ที่ตระหนักถึงความมีอยู่จริงอันแท้จริงของพระองค์ จึงจะรับรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงในจิตใจ"

มหาตมะ คานธี


หากแต่มีชาติที่ต้องการความอดทน ขันติ แรงบันดาลใจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญที่มีชีวิต นั้นคืออินเดีย ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษมานานหลายศตวรรษ ไม่น่าเชื่อที่ชายผู้เป็นนักบุญปรากฏขึ้น เขาจะนำคนหลายร้อยล้านคนซึ่งทุกข์ทรมานในอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นที่สองของโลก ออกจากอาณานิคมสู่สถานะที่มีเกียรติในสังคมโลก เขาทำมันโดยไม่มีตำแหน่งสำคัญในประเทศ และเขาถูกสังหารจากความทุ่มเทที่ยิ่งใหญ่นี้ เขาไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นอะไรเลย เขาไม่เคยลงสมัครเลย แต่เขาก็เป็นพลังหลักสำหรับผู้คนทั่วอินเดีย

โมฮันดาส เค. คานธี เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1869 เขาถือกำเนิดขึ้นในดินแดนอันลี้ลับและเก่าแก่ เขามองชีวิตของตนเป็นดั่งการแสวงความจริงอันสูงสุด เป็นการวิวัฒน์ที่ไม่หยุดยั้ง การแสวงหาวิธีคิดและการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไป เขาเรียกอัตชีวประวัติของตัวเองว่า "เรื่องราวการทดลองสัจธรรมของข้าพเจ้า" การเดินทางอันยาวนานไปสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านของตัวตนเขาเริ่มขึ้นในปี 1869 จากบ้านของชนชั้นกลางในเมืองท่าของอินเดียที่ชื่อ 'ปอเวนเดอร์'

ตั้งแต่เด็กนั้น...คานธีได้รับการปลูกฝังแบบอย่างของความเป็นคนที่มีวินัยและการอุทิศตนอย่างเคร่งครัด มารดาของเขาซึ่งเป็นผู้ที่เคร่งในศาสนามาก มักถือศีลอดอาหารเป็นเวลานานอยู่เนืองๆ ครั้งหนึ่งในฤดูฝน นางปฏิญาณตนว่าจะไม่กินอะไรเลยจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น

เขาและสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวจะเฝ้ามองดูทางหน้าต่าง พวกเขาต้องการให้แม่กินอาหาร เพราะแม่กำลังอด แต่แม่ท่านบอกว่าไม่ต้องห่วง ท่านสบายดีทุกอย่าง ถ้าหากพระเป็นเจ้าไม่ต้องการให้ท่านกินในวันนี้ ท่านก็จะไม่กิน

เขาศรัทธาความเคร่งของแม่ แต่ยังไม่พร้อมจะทำตาม...

ความที่เป็นลูกคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 4 คน เขาจึงใช้ชีวิตวัยเด็กแบบเกเร อย่างเช่น ขโมยเศษเงินไปซื้อบุหรี่ แต่ด้วยความกลัวบิดา ซึ่งเป็นนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงของท้องถิ่น เขาจึงรับสารภาพว่าตนเป็นผู้ขโมย แต่แทนที่บิดาจะลงโทษ ท่านกลับโอบกอดเขา ในฐานะที่กล้าพูดความจริง แล้วทั้งสองคนก็ร้องไห้ด้วยกัน

เขาบันทึกไว้ในชีวประวัติว่า น้ำตานั้นเป็นเหมือนที่สิ่งที่ชำระล้างความสกปรกของจิตใจออกไป ถ้าคุณสร้างวินัยแบบนี้โดยผ่านทางความรัก มันเท่ากับสร้างมนุษยธรรมขึ้นในจิตใจ และนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคานธี

เมื่อ...อายุได้ 13 ปี เพื่อทำตามประเพณีของชาวฮินดู คานธีจึงเข้าพิธีสมรสกับเด็กสาวอายุเท่ากันที่ชื่อ คาสตวา ในช่วงแรกเขาเป็นสามีขี้หึงและเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

เมื่ออายุ 16 ปี เขาเผชิญกับความขัดแย้งอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก ระหว่างหน้าที่กับความปรารถนา ในคืนหนึ่ง...ขณะพยาบาลบิดาที่ป่วยอยู่ เขาก็แอบหนีขึ้นไปหลับนอนกับภรรยา ตอนนั้นเองที่พ่อของเขาเสียชีวิตลง คนใช้มาแจ้งให้ท่านทราบว่าคุณพ่อเสียชีวิตแล้ว สำนึกแรกของเขาบอกว่า ตายแล้ว...เราทำอะไรลงไป... นับตั้งแต่นั้นมาคานธีมักจะพูดถึงเหตุการณ์นั้นตอนที่ท่านละทิ้งพ่อ เวลาที่ท่านไม่ทำหน้าที่ของท่านให้ดีอยู่เสมอ แล้วมันก็กลายเป็นสำนึกในเรื่องของหน้าที่และความรับผิดชอบของเขา

เมื่ออายุ 17 ปี คานธีทิ้งภรรยาและครอบครัวไว้เบื้องหลัง เพื่อเข้าเรียนกฎหมายที่กรุงลอนดอน ด้วยความขลาดเขลาและไร้เดียงสา เขารู้สึกว่าความอึกทึกของเมืองใหญ่เป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่นยิ่งนัก

เขาไม่รู้จักของทันสมัยอย่าง "ลิฟต์" เขาเดินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นห้องในโรงแรม และทันใดนั้นห้องก็เลื่อนขึ้น เขาก็ตกใจว่าตัวเองลอยขึ้นไป...

ในช่วงเวลานั้น ความหวังสูงสุดของเขาก็คือ การได้เป็นสุภาพบุรุษอังกฤษ... เขาสวมหมวก Top Hat ถือไม้เท้าหัวเลี่ยมเงิน เรียนเต้นรำ สีไวโอลิน และเรียนภาษาฝรั่งเศส ทว่าความสามารถพิเศษใดๆ ก็ไม่อาจลบความอ่อนหัดและความประหม่าของเขาลงไปได้ แม้เมื่อได้ปริญญาทางกฎหมายแล้ว เขาก็ยังไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง ภายหลังเขาบันทึกไว้ว่า "ความรู้สึกไร้ความเชื่อมั่นและความหวาดกลัวของข้าพเจ้าไม่มีวันสิ้นสุด"

เขากลับมาอินเดียรับว่าความคดีแรก และพบว่าเมื่ออยู่ในศาลเขาไม่สามารถเปิดปากพูดต่อหน้าผู้พิพากษาได้ เขากลัวและเศร้ากับเรื่องเช่นนี้มาก...

ด้วยความอาย...เขาจึงเริ่มมองหาทางหนี และทางออกที่มีก็คือการเสนอตำแหน่งงานจากแอฟริกาใต้

คานธีบอกไว้ว่า "ในดินแดนซึ่งพระเป็นเจ้าทรงคุ้มครองแห่งนั้นเอง ที่ข้าพเจ้าค้นพบพระเป็นเจ้าของตนเอง"

ไม่นานหลังมาถึงประเทศใหม่ เขาประสบเหตุการณ์ซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างรุนแรง ความที่ไม่ทราบว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาจึงจองที่นั่งชั้นหนึ่งบนรถไฟไปยัง 'เพลย์โทเนีย'

ผู้โดยสารผิวขาวเห็นคานธีเข้า ก็ไปต่อว่าพนักงาน และก็บอกให้ย้ายเขาไปนั่งชั้นสามถือแม้ว่าเขาจะถือตั๋วชั้นหนึ่งก็ตาม แต่คานธีไม่ยอม พอถึงสถานีแรกที่รถจอดเขาก็โดนผู้คุมโยนลงจากรถไฟ ความอับอายครั้งนั้นถือเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขาอยากเปลี่ยนแปลง เขาใช้เวลาทั้งคืนนั่งอยู่ที่ชานชาลา คิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้ความยุติธรรม

คานธีพูดถึงคืนอันหนาวเหน็บนั้นให้ฟังในเวลาต่อมาว่า เป็นประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ที่สุดในชีวิต

เขาคิดจะกลับไปอินเดียแต่ปฏิเสธความคิดนั้นเพราะเห็นว่าเป็นการขี้ขลาด เขาคิดว่าจะยอมรับความไม่เท่าเทียมกันนั้นแต่ก็ขัดกับความรู้สึกของตนเอง เขาคิดว่าจะใช้กำลังเข้าต่อสู้ แต่ก็ต้องล้มเลิกเพราะไม่สมควร ทางเลือกเพียงอย่างเดียวที่เหลือก็คือ 'อยู่และต่อต้าน'

ในวันรุ่งขึ้น...เขาจับรถไปอีกขบวน สัปดาห์ต่อมาเขาจัดประชุมผู้อพยพชาวอินเดียขึ้น ด้วยวัย 24 ปี ความคิดอ่านของคานธีเติบโตเกินตัว เพื่อจะฝ่าฟันอุปสรรคซึ่งใหญ่ขึ้น

สิ่งนี้ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย เขาต้องอยู่ต่อไป ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวอินเดีย และในท้ายที่สุดเพื่อสิทธิของคนผิวดำทุกคน และนั้นคือจุดเริ่มต้นของมหาตมะ เมื่อคานธี เริ่มวิวัฒน์ตัวเองเป็นมหาตมะผู้ยิ่งใหญ่

****************************************************************
ที่แอฟริกาใต้ในช่วงทศวรรษที่ 1890 ชาวแอฟริกาและอินเดียต่างตกที่นั่งต้องทำตามอำเภอใจของเจ้านายผิวขาวเหมือนกัน ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายซึ่งไม่ยอมรับ สิทธิในการออกเสียง การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือแม้แต่เดินบนถนนในยามกลางคืน ด้วยความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะแก้ไขสิ่งผิด ในช่วงแรกๆ คานธียังตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง

ในฐานะนักกฎหมาย เขาเชื่อว่าเราเปลี่ยนกฎหมายเราก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ ดังนั้นจากปี 1893 - 1906 เขาทุ่มเททำงานในศาลระดับล่างเพื่อทำอะไรบางอย่าง แต่ปัญหาก็คืออังกฤษฉลาดกว่าเขามากในช่วงนั้น และทุกครั้งที่เขาเปลี่ยนกฎหมายฉบับหนึ่ง ก็จะมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมาแทนเพื่อให้ความไม่เท่าเทียมกันดำเนินต่อไปในลักษณะอื่นอีก

เมื่อต้องตกเป็นเหยื่อของชาวแอฟริกันผิวขาว คานธีจึงหาทางแก้โดยใช้การรวมพลังสามัคคี เขาเริ่มพัฒนาชุมชนของผู้คนจากต่างเชื้อชาติและต่างศาสนาขึ้น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค เขายืนยันจะให้ปฏิบัติต่อครอบครัว ซึ่งต่อมาจะรวมถึงบุตรชายทั้ง 4 ไม่ให้ต่างจากคนอื่นๆ

แม้เขาจะชิงชังการกดขี่ของอังกฤษ แต่จนถึงทศวรรษที่ 1906 คานธียังถือตนเป็นสมาชิกผู้ภักดีของจักรภพ ยังร้องเพลง God save the Queen (เพลงชาติของอังกฤษ) และสอนลูกๆ ให้ร้องด้วย อันที่จริงแล้วเขามีความจงรักภักดีมากถึงขนาดเข้าร่วมกับกองกำลังของอังกฤษในสงครามโบเออร์ เพื่อปราบปรามการลุกฮือของพวกซูลู ในปี 1906

ประสบการณ์ในสงครามซูลูนี่เอง ที่นำเขาเข้าไปใกล้กับความรุนแรงอย่างไร้มนุษยธรรม ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มตระหนักว่านี่ไม่ใช่สงครามระหว่างคนสองคนเสียแล้ว แต่มันคือการสังหารหมู่ คานธีถอยหลบขณะปืนของอังกฤษสังหารกองทัพซูลูซึ่งใช้หอกเป็นอาวุธ เขามองเห็นความรื่นเริงใจของทหารในการบุกเข้าฆ่า และเขาเก็บร่างของผู้บาดเจ็บที่นอนเกลื่อนกราดอยู่ด้วยความปวดร้าวใจ

เขาเริ่มคิดว่าชาวซูลูถูกชาวอังกฤษกดขี่ในลักษณะนี้ เขานึกถึงการกดขี่ในครอบครัวของตัวเอง โดยเฉพาะภรรยาของเขา ในเวลานั้นเขาเคยทำสิ่งที่เรียกว่าเป็นสามีที่โหดร้าย หึงหวง และกดขี่ การได้เห็นกบฏชาวซูลู เป็นการจุดชนวนความคิดนี้ขึ้นมา ท่านจึงเข้าใจได้ว่าชาวอังกฤษกดขี่ชาวซูลูอย่างไร แล้วนำไปเปรียบเทียบกับตัวเอง คานธีบอกว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกผิดกับพฤติกรรมกดขี่เยี่ยงนี้นัก ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อชีวิตสมรสของตัวเอง ต่อความสัมพันธ์ของคาสตวา"

ประเพณีของชาวฮินดูถือว่าผู้ชายคือผู้กำหนดเรื่องที่เกี่ยวกับทางเพศ ดังเช่นที่คานธีได้ประพฤติลงไปด้วยความไร้เดียวสาแบบเด็กๆ เขาคิดว่ามีวิธีเดียวก็คือต้องบังคับความต้องการของตนจึงจะรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้ดีที่สุด ด้วยวัย 37 ปี เขาปวารณาตนเพื่อถือเพศพรหมจรรย์ตลอดไป
ในปี 1906 คานธีก็เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางความคิดทางการเมืองอันน่าตื่นตะลึง กฎหมายใหม่กำหนดให้ชาวอินเดียทุกคนจะต้องเข้ารับการจดทะเบียนและพิมพ์ลายนิ้วมือ ข้อบังคับนี้รวมถึงการให้หญิงชาวอินเดียต้องเปลื้องผ้าต่อหน้าตำรวจผิวขาว เพื่อกรอกตำหนิรูปพรรณลงในทะเบียนด้วย

ด้วยความโกธรแค้น ชาวอินเดียสามพันคนมาพบกันในโยฮันเนสเบิรต์ เพื่อวางแผนการตอบโต้ ทันใดนั้นพ่อค้าชาวมุสลิมคนหนึ่งยืนขึ้นแล้วชูกำปั้นพร้อมกับพูดว่า "ข้าแต่พระเป็นเจ้า เราจะยอมเข้าคุกก่อนที่จะยอมแพ้ให้กฎหมายฉบับนี้!!"

คานธีไม่เคยนึกถึงการเข้าคุกมาก่อน แต่ก็รู้โดยสัญชาตญาณว่านี่แหละ...คือวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว เขาลุกขึ้นแล้วก็พูดว่า "เราจะสวดขอต่อพระเป็นเจ้าว่า เราจะเข้าคุก และเราจะในนั้นจนกว่ากฎหมายนี้จะถูกเพิกถอน และเราจะยอม"

คำพูดของเขาจุดประกายให้เกิดการต่อต้านครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของมวลชนซึ่งไม่ได้กะเกณฑ์มาก่อน ผู้ประท้วงกระทำตามอย่างคานธี พวกเขาอดทนต่อการทุบตีของตำรวจ ยอมรับความเจ็บปวดอย่างกล้าหาญโดยไม่ตอบโต้

คานธีรับรู้เป็นครั้งแรกในชีวิตว่า เมื่อหัวใจของมนุษย์ปิดคุณก็ไม่อาจสัมผัสความคิดของเขาได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เหตุผลกับคนเหล่านี้ จิตใจของเขาด้านชา ถ้าเหตุผลยังไม่พอ ความรุนแรงก็ไม่ดี แล้วคุณจะทำอย่างไร เขาค้นพบวิธีต่อต้านแบบอหิงสาเป็นครั้งแรกที่แอฟริกาใต้นี่เอง คุณยืนหยัดต่อต้านผู้กดขี่ บอกเขาว่าคุณจะไม่ยอมแพ้ แต่พร้อมกันนั้นคุณก็ให้ความมั่นใจว่าคุณจะไม่ทำร้ายเขา

คานธีใช้คำว่า "สัตยาคฤห" (Satyagraha) ซึ่งเป็นการสมาสคำในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า "ความจริง" คำหนึ่ง และ "การตามหา" คำหนึ่ง เพื่ออธิบายแนวคิดในการปฏิวัติของเขา เป้าหมายของอหิงสาเก่าแก่เท่าๆ กับปรัชญาของมนุษย์ ความเข้าใจของคานธีก็คือ ต้องประยุกต์แนวคิดนั้นให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองที่ปฏิบัติได้จริง เขารู้สึกว่าการที่จะปฏิบัติตามลัทธิอหิงสาที่แท้จริงนั้น ในจิตใจต้องมีการพัฒนาสันติภาพ หรือมีเมล็ดพันธุ์แห่งการประนีประนอมให้เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ เราจะมีอหิงสาได้อย่างไรกัน

ในปี 1913 นายพลยาสมัสต์ ผู้บัญชาการทหารอังกฤษในแอฟริกาใต้ ได้ออกกฎหมายที่กำหนดว่าการแต่งงานของชาวฮินดูและมุสลิมถือเป็นโมฆะ ทำให้คานธีก้าวเข้าสู่การต่อต้านในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยไม่ตั้งใจ

ตามประเพณีแล้วผู้หญิงอินเดียจะต้องอยู่แต่ในบ้าน แต่คานธีก็โจมตีธรรมเนียมนั้นว่าเป็นกดขี่รูปแบบหนึ่ง แล้วเรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมเคียงบ่าเคียงใหล่กัน ในการกล่าวปราศรัยอันจับใจครั้งหนึ่งคานธีสามารถปลดปล่อยสตรีนับล้านให้เป็นอิสระ และเป็นพลังเสริมอย่างใหม่ให้แก่มวลชนของเขาด้วย

กฎหมายสมรสใหม่นี้ก่อให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ คนงาน 50,000 คนไม่พอใจ แล้วพากันหยุดงาน ทำให้นายพลยาสมัสต์เกิดความลังเลใจ และยกเลิกกฎหมายนั้นไป คานธีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพลังมวลชนสามารถเอาชนะการบีบบังคับได้

****************************************************************
ด้วยความกระตือรือร้นที่จะท้าทายอำนาจของอังกฤษในบ้านเกิดของตน ในปี 1915 ขณะอายุได้ 45 ปี เขากลับมายังอินเดียซึ่งเวลานั้นถูกกดอยู่ภายใต้แอกของลัทธิจักรวรรดินิยม เป็นเวลา 2 ศตวรรษที่อังกฤษได้ปล้นทรัพยากรธรรมชาติของอินเดียไปอย่างเป็นระบบ เมื่อถูกกวาดเอาวัตถุดิบไปหมด อุตสาหกรรมในประเทศจึงค่อยๆ ตายลง อินเดียเป็นปราการใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด และสร้างผลกำไรที่ดีที่สุดในเครือจักรภพ อังกฤษฉุดอินเดียให้ตกต่ำลงจนถึงขีดที่ว่า อินเดียไม่สามารถผลิตแม้กระทั่งเข็มกลัดอันเล็กๆ ได้ มันเป็นสภาพที่ถูกตักตวงมาเป็นเวลานานนับปี

ก่อนปี 1915 ชาวอินเดียสามร้อยล้านคน ต้องก้มหัวให้ชาวอังกฤษจำนวนเพียงแสน ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ใดที่คนเพียงหยิบมือจะปกครองคนจำนวนมากถึงเพียงนี้ในดินแดนห่างไกลเช่นนี้ ด้วยความสิ้นหวังที่จะคืนสู่เสรีภาพ ชาวอินเดียในสภาพทาส จึงเป็นได้เพียงทหารและตำรวจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับนายผิวขาวของตนเอง

คานธีชักชวนให้ประชาชนต่อต้าน โดยบอกแก่คนเหล่านั้นว่า "คนที่ประพฤติตัวเยี่ยงหนอน จึงสมควรถูกเหยียบย่ำ เราจะต้องเรียนรู้การต่อสู้กับตัวเอง เราเป็นทาสมานานจนต้องรู้จักลุกขึ้นสู้กับตัวเองเสียบ้าง จงกำจัดความคิดที่จะพึ่งพาผู้อื่นหรือใช้การติดสินบน แทนที่จะใช้ความกล้าหาญ เราจะไม่อาจต่อสู้กับรัฐบาลได้ถ้าเราไม่เรียนรู้การต่อสู้กับตัวเอง"

อีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลอังกฤษผลักไสประชาชนให้เข้าเป็นฝ่ายคานธี โดยการโหมกระพือความคิด

ในปี 1919 คานธีต่อต้านกฎหมายใหม่โดยปลุกระดมประท้วงขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่เขาประสานงานกับกลุ่มผู้ประท้วงจากบอมเบย์ ซึ่งห่างขึ้นไปทางเหนือหลายร้อยไมล์ ชาวอินเดีย 2,000 คน ก็มารวมตัวกันในลานหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองอำมริสา พวกเขาไม่รู้ว่าสองวันก่อนหน้านั้น นายพลเรจินอลล์ ดายเออร์ ได้ออกกฎสั่งห้ามการชุมนุม โดยไม่มีการเตือนให้รู้ 'ดายเออร์' ส่งกำลังทหารอินเดีย 50 นายไปยังลานชุมนุม และสั่งให้ใช้ปืนไรเฟิลยิง !!

เป็นเวลานาน 10 นาทีที่ทหารกราดยิงผู้ชุมนุม.... มีคนตาย 379 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 1,000 คน

เหตุผลเดียวที่เขาพวกหยุดยิงก็คือ กระสุนหมด... พวกเขาบอกว่าถ้ายังมีกระสุนอีก ก็จะยิงเข้าใส่ฝูงชนต่อไป ยิงประชาชนให้ตายเพื่อให้บทเรียนแก่ชาวอินเดียว่า ห้ามแข็งข้อต่ออังกฤษและจงยอมแพ้ซะเถิด....

'ดายเออร์' ออกกฎหมายอันน่าชิงชังรังเกียจขึ้น 1 ฉบับ ไล่หลังการสังหารหมู่ นั้นก็คือ 'คนอินเดียมีทางเลือก 2 ทาง ถ้าไม่ค้อมตัวลงคลานเยี่ยงหนอน ก็ต้องถูกโบยจนตาย' 

ชาวอินเดียผู้คลั่งแค้นต้องการตอบโต้ ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่า 4,000 ต่อ 1 ของพวกเรา อาจจะฆ่าคนผิวขาวได้หมดในช่วงเวลาไม่กี่วันเท่านั้น

****************************************************************
เหตุการณ์สังหารหมู่ที่อำมริสา ในปี 1919 สร้างความหวาดหวั่นว่าจะเกิดการนองเลือดขึ้น ระหว่างคนอังกฤษกับคนอินเดียซึ่งต้องการจะแก้แค้น แต่คานธีก้าวเข้ามาแล้วพูดว่า "ไม่…เราจะไม่ทำต่ออังกฤษ เหมือนเช่นที่นายพลดายเออร์ทำต่อเรา เราต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราสามารถวางตัวพ้นจากความรู้สึกเกลียดชังเช่นนั้น พวกเขาไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นเพื่อน พวกเขาก็ต้องการปลดปล่อยมากเท่าๆ ที่พวกเราต้องการเหมือนกัน"

คานธีกล่าวหา "ควรยกย่องความกล้าหาญที่เงียบสงบของการตาย โดยการไม่ฆ่า"

ช่วงเวลาอีก 3 ปีต่อมา คานธีได้เปลี่ยนนักชาตินิยมอินเดียให้กลายเป็นพลังมวลชน เขาได้แปรความรู้สึกโกธรแค้นจากเหตุการณ์ที่อำมริสา ให้กลายเป็นความสามัคคีของชาวฮินดูและมุสลิม กรรมกร และพ่อค้า และเขาชนะใจประชาชนอินเดียด้วยการทำตัวเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง สวมเสื้อผ้าง่ายๆ แบบเดียวกัน อดมื้อกินมื้อ ละทิ้งความสะดวกสบาย เฉกเช่นเดียวกับผู้ยากจนที่สุด

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง คานธีชักชวนชาวอินเดียให้สวมเครื่องแต่งกายในแบบเรียบง่ายของอินเดีย และให้ทอผ้าขึ้นใช้เอง เสื้อผ้าที่ผลิตจากตะวันตกถูกนำมาเผารวมกันเป็นกองใหญ่

เขาว่า "เสื้อผ้าของต่างชาติบ่งบอกว่าเราเป็นทาสทางวัฒนธรรมของชาวตะวันตก เราไม่อาจปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นทาส การเผาเสื้อผ้าของต่างชาติ จึงเป็นการฟอกจิตใจของพวกเรา"
คานธีใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมงทุกวันเพื่อปั่นด้ายเอง ผู้นำชาวอินเดียคนอื่นได้แต่ประหลาดใจกับความประพฤติเช่นนี้ของเขา ท่ามกลางสภาวะวิกฤตในชาติเยี่ยงนี้ แต่เขานั่งอยู่ที่เครื่องปั่นด้าย ทว่าคานธีมองทะลุถึงความสำคัญพื้นฐานนั้นว่าเป็นการเชื่อมโยงกับมวลชน วัตรปฏิบัติของเขาในฐานะผู้นำชาวอินเดีย ทำให้เขาผู้นำที่ไม่มีใครเคลือบแคลงเป็นเวลานานถึง 25 ปี

ในขณะที่มือข้างหนึ่งเปิดฉากการปฏิวัติ แต่อีกข้างหนึ่งก็ต้องปกป้องพวกพ้องไม่ให้พ่ายต่อความต้องการก่อเหตุนองเลือด หลายครั้งที่คานธียกเลิกการชุมนุม เมื่อเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลายเป็นความรุนแรงของประชาชนในประเทศ ในฐานะผู้นำทางการเมืองคานธีได้แสดงให้เห็นว่าท่าทีอหิงสาสามารถใช้ให้เกิดผลทางการเมืองได้ แต่ละครั้งก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อใดที่ขวัญกำลังใจของคนกล้าแข็ง เขาก็จะไม่ทำให้สูญเสียไป และมันจะสูญเสียไปถ้าหากเกิดความรุนแรงขึ้นในหมู่มวลชาวอินเดีย

ทว่าหน้าที่ต่อส่วนรวมของเขา แลกมาด้วยราคาแพง บุตรชายทั้ง 4 ของคานธีมักรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งอยู่เสมอ และไม่พอใจที่พ่อหายไปอยู่ในคุกเป็นเวลานาน บุตรชายคนโตแสดงความเป็นปฏิปักษ์ในลักษณะที่ทำให้พ่อต้องปวดร้าวใจ โดยกลายเป็นคนติดเหล้าและขายตัว

ในมุมมองของคานธี เขาได้สูญเสียลูกชายไปแล้ว จนวาระสุดท้ายของชีวิต เขาได้พูดถึงลูกชายคนนี้ว่า "เขาไม่ใช่ลูกของข้าพเจ้าอีกต่อไป" ซึ่งมันเป็นคำที่รุนแรงมากสำหรับพ่อผู้ที่อุทิศตนด้วยวิธีอหิงสาต้องแลกมาด้วยราคาที่แพง ...แม้จะเสียใจเรื่องของบุตรชาย แต่เรื่องส่วนตัวก็ไม่อาจขัดขวางคานธีจากภารกิจการเรียกร้องเสรีภาพให้แก่ชาวอินเดียสามร้อยล้านคนได้

ในปี 1930 ขณะอายุได้ 62 ปี คานธีวางแผนการใหม่ที่จะต่อต้านการเก็บภาษีซึ่งไม่เป็นธรรม ภาษีที่อังกฤษเรียกเก็บจากเกลือ

การทำเกลือหรือการขายเกลือของชาวอินเดียถือว่าผิดกฎหมาย กิจการนี้สงวนไว้ให้สำหรับคนต่างชาติทำ เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่การประท้วงครั้งนี้ เขาวางแผนจะเดินเท้าเป็นระยะทาง 240 ไมล์ ไปยังทะเลอาหรับเพื่อไปทำเกลือที่นั้น พวกพ้องของเขาในสภาคองเกรซของอินเดีย ต่างอ้อนวอนให้เขาทบทวนแผนการครั้งนี้ใหม่ เกลี้ยกล่อมว่าแผนการนี้อาจจะล้มเหลว รัฐบาลอังกฤษมั่นใจว่าศัตรูเก่าของตนกำลังถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด

****************************************************************
วันที่ 12 มีนาคม 1930 คานธีพร้อมด้วยสาวกจำนวน 80 คน เริ่มต้นการเดินทางซึ่งกลายเป็นความสนใจของชาวโลก และเปลี่ยนแปลงวิถีทางแห่งประวัติศาสตร์

ขบวนของคานธีเดินได้เพียงวันละ 10 ไมล์ และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมด้วย และมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้ามาที่อินเดียเพื่อทำข่าวนี้เป็นคนแรก เมืองชายฝั่งที่ใกล้ที่สุดคือเมืองพาราณาสี ผ่านไป 24 วันเขาเดินทางผ่านหมู่บ้านนับพันๆ แห่ง ขบวนของเขากลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงขนาดใหญ่ และทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป ไม่เพียงแต่คนทั่วทั้งอินเดียจะเข้าร่วม แต่ทั้งโลกก็เอาใจช่วยเช่นกัน รายงานข่าวของอเมริกันส่วนใหญ่รายงานว่านี่เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ

เมื่อขบวนของคานธีถึงชายฝั่งมหาสมุทรในวันที่ 6 เมษายน มีชาวอินเดียหลายแสนคนเข้าร่วมกับเขา คานธีก้มลงหยิบเกลือขึ้นแล้วพูดว่า"ด้วยเกลือหยิบมือนี้ ข้าพเจ้าขอต่อต้านการบังคับของจักรวรรดิอังกฤษ ขอเราจงร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเรากันเถิด" และการตอบสนองเป็นไปราวกับประกายไฟ ทั่วทั้งประเทศไม่ว่าพ่อค้า ชาวนา แม่บ้าน ต่างพากันทำเกลือ และขายเกลือกันอย่างเปิดเผย

คนหลายพันถูกจองจำ รวมทั้งคานธีด้วย ตำราจทุบตีผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยม สร้างความโกธรแค้นและความสามัคคีขึ้นในหมู่ชาวอินเดียมากยิ่งขึ้น คานธีรู้ดีว่าการใช้วิธีต่อต้านแบบอหิงสา จำเป็นต้องแสดงความกล้าหาญออกมาให้เห็น จึงจะดึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในตัวมนุษย์ออกมาได้ เขาสอนให้ชาวอินเดียรู้จักต่อต้านผู้กดขี่ และต่อสู้กับตัวเองด้วย

ภายใต้ความกดดันจากนานาชาติ ลอร์ดเออร์วิน ผู้สำเร็จราชการอังกฤษจึงยอมปล่อยตัวคานธี และเชิญเขามาเจรจา

คานธีตรงออกจากที่คุมขังไปยังจวนของผู้สำเร็จราชการ ซึ่งจะรองรับแขกผู้มีเกียรติเท่านั้น...

น้ำอุ่นถูกนำมารับรองคานธีตามคำขอ เขาวางแก้วลง แล้วก็ค่อยๆ หยิบอะไรบางอย่างออกมาจากชายพก ผู้สำเร็จราชการถามว่าอะไร คานธีตอบว่า "ท่านที่เคารพอย่าบอกเรื่องนี้ให้ใครรู้ นี่เป็นเกลือที่ผมแอบทำโดยผิดกฎหมาย" เขาเทเกลือนั้นลงในน้ำ... คน... แล้วก็ดื่ม
ในปีถัดมา คานธีเดินทางไปลอนดอนเพื่อร่วมประชุมเรื่องอนาคตของอินเดีย และเช่นเคย...เขาเดินทางในชั้นสาม และปฏิบัติภารกิจเช่นที่ทำประจำวัน

ที่ลอนดอน คานธีสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนเป็นผลสำเร็จอย่างงดงาม เขาอาศัยอยู่กับคนยากจนในเขตอีสต์เอนส์ ได้รับความชื่นชมทุกหนทุกแห่งที่ไป เด็กๆ เดินตามเขาพร้อมกับร้องตะโกนว่า 'คานธีกางเกงของท่านไปไหนซะละ' 

คานธีกล่าวว่า "ขอให้บอกแก่เด็กอื่นๆ ว่าข้าพเจ้ารักพวกท่านมากเท่ากับลุกของข้าพเจ้าเอง"

เมื่อได้รับเชิญไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ที่พระราชวัง คานธีถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้าเฝ้ากษัตริย์ด้วยชุดโสร่ง เขาตอบว่าพระมหากษัตริย์ก็สวมชุดที่เหมาะกับเราทั้งสองเช่นเดียวกัน

เขากลับมาอินเดีย และแพร่ข่าวโดยผ่านทางการประชุมสวดประจำวัน - "ข้าพเจ้ากำลังขอร้องต่อบิดาแห่งชาติของเรา ให้ท่านมีเมตตา มีความรัก เห็นความจริงและงดใช้ความรุนแรง ขอจงประทานพรแก่พวกเรา เสรีภาพอันสมบูรณ์เท่านั้นคือสิ่งที่เราต้องการ"

คานธียอมรับว่า อัตตาคือจุดบกพร่อง และบางครั้งความชื่นชมบูชาของมวลชนก็ทำให้เขาคึกคะนอง อย่างไรก็ดีความวินัยอันเคร่งครัดทำให้เขาเอาชนะความรู้สึกนั้นได้ หลานชายของคานธีเคยเล่าว่า 'จำได้ว่าหลายครั้งที่ผมเดินทางไปกับท่าน ตามสถานีรถไฟทุกแห่ง ก็จะมีผู้คนเป็นพันๆ มาร้องตะโกน คานธีจงเจริญ คานธีจงเจริญ และจะร้องอยู่อย่างนั้นจนรถไฟแล่นผ่านไป ผลจากเสียงร้องพวกนั้นทำเอาท่านนอนไม่หลับเลย'

คานธีห้อมล้อมไปด้วยบริวารผู้จงรักภักดี ซึ่งพร้อมจะทำตามคำบัญชาของเขา ในช่วงเวลาที่คานธีถือเพศพรหมจรรย์ ในช่วงหลังๆ ก่อนจะเสียชีวิต คานธีได้ทดสอบความตั้งใจจริงของตนเอง ซึ่งทำให้ผู้ที่ชื่นชมต้องตกใจ นั้นก็คือนอนเปลือยกายกับเด็กสาวชาวฮินดู จุดประสงค์คือต้องท้าทายความมีวินัยของตนเอง และดังนั้นจึงยกระดับความมุ่งมั่นให้สูงยิ่งขึ้น

สำหรับชาวอินเดียแล้ว คานธีเกือบจะเป็นเหมือนรูปเคารพ แต่จักรวรรดิอังกฤษกลับถือว่าเขาคือศัตรู

ในเดือนสิงหาคม ปี 1942 คานธีเรียกร้องการประกาศอิสรภาพโดยทันที "นี่คือคำสวดเป็นคำสั้นๆ ที่ข้าพเจ้าจะมอบแก่ท่านอยู่หรือตาย เราจะปลดปล่อยอินเดียหรือมิฉนั้นก็ยอมตาย" และในคืนวันที่คานธีประกาศอิสรภาพนั้นเอง เขาและสมาชิกสภาคองเกรซทั้งหมดก็ถูกจับกุม ด้วยวัย 73 ปีและด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรม เขาจะต้องนำการปฏิวัติในอีก 2 ปีข้างหน้าจากในคุก

ในปี 1944 ภรรยาของเขา คาสตวา คู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันมา 62 ปี เสียชีวิตในอ้อมแขนของเขา คานธีเศร้าเสียใจอย่างหนัก
คานธียังคงยึดมั่นในหลักการของตนเอง และขอร้องให้คนอื่นทำแบบเดียวกัน แม้ในช่วงที่เจรจากับผู้สำเร็จราชการ ลอร์ดเมาท์ แบดเทริส์น คานธีก็ยังคงปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นประจำ สัปดาห์ละ 1 วัน

1 ปีให้หลัง อังกฤษซึ่งอ่อนแรงลง ยอมรับว่าตนไม่สามารถปกครองอินเดียอีกต่อไปได้ ทว่าอนาคตของชาติใหม่ปรากฏความขัดแย้งให้เห็นอยู่เบื้องหน้าแล้ว ชาวฮินดูและมุสลิม คู่แข่งอันยาวนาน หันมาเกลียดกันอย่างเปิดเผย ชาวมุสลิมส่วนน้อยยืนยันจะแยกตัวออกไป (กลายเป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) หลังจากอุทิศมาชั่วชีวิตเพื่อรวมประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่คานธีกลับต้องเห็นบ้านเกิดอันเป็นที่รักถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจเขามาก

'ลอร์ดเมาท์ แบดเทริส์น' ได้ทิ้งยาพิษที่ขมขืนไว้สำหรับชาติอินเดียที่เป็นเอกราชและคานธี คือการแบ่งแยกอินเดียออกเป็น 2 ประเทศ ด้วยการก่อตั้งรัฐปากีสถาน ซึ่งคานธีไม่สามารถรับได้ มันทำร้านจิตวิญญาณของเขา

วันที่ 14 สิงหาคม 1947 อินเดียก็ฉลองอิสรภาพของตน แต่คานธีมองเห็นความแตกแยกระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม เขาถามเพื่อนของเขาว่า "เหตุใดคนเหล่านั้นจึงยินดี ข้าพเจ้ามองเห็นแต่เลือดนองแผ่นดิน"

การแบ่งแยกก่อให้เกิดการอพยพขนานใหญ่ในทันที ชาวฮินดูข้ามมายังอินเดีย ชาวมุสลิมหนีเข้าไปในปากีสถาน ผู้คนอพยพหลายแสนคนเดินเท้าอย่างหมดสิ้นหนทางโดยปราศจากอาหารและน้ำ ผู้คนของ 2 ศาสนาประสบหายนะจากความอดอยาก แบ่งแยกกันจากความเป็นปรปักษ์แต่โบราณ การต่อสู้นองเลือดก็เกิดขึ้น ฮินดูและมุสลิมระเบิดความเกลียดชังเป็นการสังหารหมู่ ทั้ง 2 ฝ่ายกระทำลงไปด้วยความกลัวและความโกรธ มีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า 'ผมยืนอยู่ที่ชานชาลาตอนรถไฟเข้าเทียบ ไม่มีผู้คนเคลื่อนไหวบนขบวนรถ มีแต่เลือดหยดออกจากประตู พอประตูรถเปิดข้างในนั้นมันก็เหมือนกับร้านขายเนื้อ เว้นแต่ว่าเนื้อพวกนั้นมีเสื้อสวมอยู่'

ท้ายที่สุดผู้คนจำนวนครึ่งล้านคือผู้สูญเสีย ภาพการสังหารที่คานธีคาดคิดไว้ กรีดลึกลงไปในความรู้สึกผิด คานธีรู้สึกว่าตนไม่อาจเปลี่ยนประชาชนให้ใช้ความอหิงสาได้ ผู้ใกล้ชิดคานธีเล่าว่า 'ท่านเสียใจมาก ท่านบอกว่าท่านมองไม่เห็นอะไรเลย มีแต่ความมืดมนอยู่ทุกหนแห่ง ผู้คนกระทำตัวเหมือนสัตว์ป่า ท่านบอกว่าแย่เสียยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก เพราะว่าสัตว์ป่าไม่ฆ่าพวกเดียวกันเอง ท่านบอกว่าข้าพเจ้าจะอดอาหารประท้วงจนกว่าการเข่นฆ่าจะหยุดลงไป จนกว่าฮินดูและมุสลิมจะเป็นพี่น้องกัน'

พวกหัวรุนแรงชาวฮินดูไม่พอใจวิธีการอหิงสาของคานธี และความต้องการที่จะให้ชาวฮินดูและมุสลิมอยู่ร่วมกัน

คานธีมีความอับอายต่อพรรคคองเกรซของเขาเอง เขาตำหนิมันและเพื่อนของเขา 'โยฮาราน เนรู' นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียเอกราช เขาล้มป่วยจากความวุ่นวายซึ่งกำลังทำลายอินเดีย

คานธีเริ่มอดอาหารประท้วง มีความโกรธแค้นมากในหมู่ผู้อพยพในตอนนั้น ผู้ที่เดินขบวนร้องว่า 'คานธีจงลงนรก ปล่อยให้คานธีตายไป ให้เขาตายไปไปลงนรกซะ' พอวันที่ 2 ก็เริ่มมีผู้คนที่คัดค้านฝ่ายแรก และวันที่ 3 ฝ่ายคัดค้านก็เริ่มใหญ่ขึ้น และกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านคานธีก็เล็กลง วันที่ 4 แนวโน้มก็ยังเป็นเช่นนั้นต่อไป จนในที่สุดทั่วทั้งถนนนั้นก็มีแต่ผู้เชียร์คานธี และ 1 สัปดาห์ผ่านไป พวกมุสลิมก็สามารถจะเดินออกไปในท้องถนนของกรุงเดลีย์ได้อย่างปลอดภัย การอดอาหารประท้วงของคานธีช่วยชาวนิวเดลีย์เอาไว้ แต่ที่พรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน สงครามกลางเมืองยังคงร้อนระอุ

คานธีออกจาริกเพื่อสันติภาพข้ามดินแดนซึ่งแตกแยกเพราะความเกลียดชัง เขาเดินเท้าเปล่าจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง อดทนต่อฝูงชนผู้โกรธแค้น มีการขวางปาหนามเข้าใส่ทางเดิน คานธีจะตื่นขึ้นเวลาตีสี่ของทุกเช้าเพื่อต่อสู้กับคลื่นแห่งการนองเลือด

คงไม่มีชาวอินเดียคนใดจะไม่รู้สึกละอายและภาคภูมิใจ ละอายที่คานธีถูกเหยียบย้ำอย่างถึงที่สุดจากชาวอินเดียด้วยกัน และภูมิใจที่ว่าในท่ามกลางเขาเหล่านั้น ขณะช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายทมิฬ คนๆ หนึ่งยืนหยัดขึ้นเพื่อทำให้พวกเขาภาคภูมิที่เกิดเป็นชาวอินเดีย คนซึ่งชดใช้หนี้ให้พวกเขาทำนองเดียวกับพระเยซูคริสต์ และตอนนั้นเองที่คานธีพูดว่า "ไม่มีอะไรอื่นนอกจากโหดร้ายรอบกายข้าพเจ้า ชีวิตข้าพเจ้าต้องพ่ายแพ้ มีแต่ความตายจึงจะทำให้สิ่งที่ชีวิตข้าพเจ้าไม่อาจทำสำเร็จบรรลุผลขึ้นได้"

เขาเดินทางต่อไปโดยไม่มีการคุ้มกัน เข้าไปในเขตที่สถานการณ์ล่อแหลมที่สุด แล้วก็กล่าวกับเพื่อนคนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าอาจจะตายโดยน้ำมือของผู้ลอบสังหาร และถ้าเป็นอย่างนั้นให้จำไว้ว่า ข้าพเจ้ายอมรับลูกกระสุนนั้นอย่างกล้าหาญ ด้วยพระนามของพระเป็นเจ้า และเมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะเชื่อว่าตนคือ มหาตมะ อย่างแท้จริง"

การประชุมสวดมนต์กลายเป็นวิธีปลดปล่อยของเขาทุกวัน และตำรวจขอว่าให้เราค้นตัวผู้คน... แต่คานธีว่า ..ไม่ พระเจ้าจะปกป้องฉัน ไม่ต้องค้นตัวใคร ปล่อยเขาเข้ามา - "หากมีการนองเลือด ปล่อยให้เป็นเลือดของฉัน เพราะคนจะมีอยู่ชีวิตอย่างอิสระ หากพร้อมที่จะตายถ้าจำเป็นด้วยมือของพี่น้องของเขา"


ในที่สุดแผนลอบสังหารคานธีก็อุบัติขึ้น ด้วยความคาดไม่ถึง ตำรวจไม่บอกคานธีถึงการจับกุม และคำสารภาพของผู้ก่อการคนหนึ่งเรื่องความพยายามลอบสังหารเขาที่ล้มเหลวครั้งก่อน

วันที่ 30 มกราคม 1948 คานธีในวัย 78 ปี เดินเข้าไปในที่ประชุมสวดประจำวัน ในสวนเวอริฮาทร์ กรุงนิวเดลีย์ ท่ามกลางฝูงชนนั้นเอง ชายชาวฮินดูคนหนึ่ง 'นาฮูราน กอสซี่' วัย 36 ปี ก้าวออกมาก้มลงคารวะคานธี แล้วพูดว่า 'ท่านมาสายสำหรับการสวด' คานธีก็พูดว่า 'ใช่ฉันมาสายไป มาสายจริงๆ' แล้วกอสซี่ชักปืนเล็กๆ ออกจากเสื้อเชิ้ตของเขา แล้วยิงปืนใส่คานธี 3 นัด กระสุนเจาะทะลุท้องของมหาตมะ และอีกนัดหนึ่งที่หน้าอก เขาไม่แสดงถึงความประหลาดใจหรือความเจ็บปวด ขณะสุดท้ายก่อนความตายจะพรากเขาไป คานธีพนมมือในลักษณะสวดมนต์แล้วพึมพรำคำว่า "ราม" พระผู้เป็นเจ้าในภาษาอินเดีย

โลกของอินเดียเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงเมื่อไม่มีมือที่เยือกเย็นของมหาตมะ คานธี ความประนีประนอมทางเชื้อชาติก็จางหายไป

'กอสซี่' และผู้สมคบคิด 9 คน ก็ถูกขึ้นศาล เขาเสนอถ้อยแถลงยาว 92 หน้า ซึ่งเขาเรียกคานธีว่าผู้ทรยศ พลังที่เลวร้าย ซึ่งจะทำให้มุสลิมขึ้นมาเป็นใหญ่ในอินเดีย 'กอสซี่' ถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกแขวนคอที่อัมบาราเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1949 ผู้สมคบคิดคนที่สองก็ถูกแขวนคอ และคนอื่นๆ ถูกจำคุกตลอดชีวิต

อินเดียทั้งประเทศคร่ำครวญนาน 13 วัน ความเศร้าโศกและตื่นตระหนกจากการสังหารคานธี ดึงอินเดียให้หลุดออกจากความบ้าคลั่ง ความรุนแรงยุติลงเพียงชั่วข้ามคืน ผู้คนนับล้านต่างหลั่งไหลมายังกรุงเดลีย์ เพื่อให้ได้อยู่ใกล้เขา ตลอดทั้งคืนนั้นทุกคนต่างมาที่นี่ คลื่นมนุษย์พาหลั่งไหลติดตามร่างของชายร่างเล็กคนนี้ จนมาถึงลานเผาศพ ฝูงชนประมาณ 3-4 ล้านคนกั้นสะอื้นไม่อยู่

ทั้งหมดเพื่อให้เกียรติแก่ชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีตำแหน่งสำคัญในอินเดีย ชายซึ่งไม่ร่ำรวยและมีทรัพย์สินทั้งหมดไม่ถึง 3 ดอลลาห์เมื่อเขาตาย ไอน์สไตน์กล่าวถึงคานธีว่า 'คนรุ่นอนาคตจะไม่มีทางเชื่อเลยว่า มีคนแบบนี้อยู่จริงบนโลกมนุษย์นี้'

มีคนกล่าวไว้ว่า 'ท่านคานธีเป็นอมตะ' คงเพราะมรดกแห่งมนุษยชาติอันยิ่งใหญ่ที่สุด คือการใช้ชีวิตแบบคานธี ชีวิตที่เกิดมาเพื่อความใฝ่ฝันเพียงอย่างเดียว... หลักการเดียว... นั้นคือ หลักอหิงสา

การต่อสู้โดยไม่ใช่ความรุนแรงได้ปลดปล่อยอินเดียให้เป็นอิสระ และนับจากนั้นอีก 50 ปีต่อมา อหิงสาได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ดังที่มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ ได้กล่าวไว้ว่า "พระเยซูเจ้ามอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า คานธีมอบวิธีการ"

อังคารของคานธีได้รับการอันเชิญโดยรถไปชั้นสามขบวนพิเศษ ไปยังชายฝั่งมหาสมุทรเพื่อโปรยลงบนคลื่น ที่พำนักสำหรับวิญญาณซึ่งไม่เคยสูญเสียความศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า หรือต่อมนุษย์เลย



"ท่ามกลางความตาย ชีวิตยังคงอุบัติขึ้น ท่านโปรยความเท็จ ความจริงก็ยังคงอุบัติขึ้น ท่ามกลางความมืด แสงสว่างยังคงอุบัติ ด้วยเหตุนั้นข้าพเจ้าถือว่าพระเป็นเจ้าคือชีวิต คือความจริง คือแสงสว่าง พระองค์คือความรักและความดีอันสูงสุด"
มหาตมะ คานธี

ประวัติศาสตร์ศิลปะ

อารยธรรมของมนุษย์ดำเนินมาอย่างยาวนาน มีวิวัฒนาการมาเรื่อย เราอาจจะศึกษาประวัติศาสตร์ได้จากบันทึกทางตัวอักษร แต่ไม่เสมอไป บางยุคบางสมัย ไม่พบหลักฐานในการใช้ตัวหนังสือ บางยุคก็เป็นอักษรโบราณที่คนปัจจุบันอ่านไม่ออกแล้ว ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์จึงทำได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือ ศึกษาจากหลักฐานทางด้านศิลปกรรม เพราะงานศิลปะ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยแท้จริง มนุษย์นำศิลปะมาใช้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต ความเชื่อทางศาสนา และการตกแต่งประดับประดาเพื่อความสวยงาม หรือแม้กระทั่งความรื่นรมย์
ยุค ก่อนประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็คือ ยุคที่มนุษย์ยังไม่มีตัวอักษรใช้กัน ได้แก่ ยุคหิน และยุคโลหะ ศิลปกรรมในยุคนี้สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจทางด้านความเชื่อ และสัญชาตญาณ ในระยะแรก ๆ จะเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ แล้วต่อมาก็ค่อย ๆ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ของตนลงไป
งานทางด้านจิตรกรรมจะปรากฏอยู่ตามฝาผนังถ้ำ มีทั้งรูปมือ รูปคน รูปลายเรขาคณิต แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นรูปสัตว์
ด้านประติมากรรม ส่วนใหญ่จะทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ใช้สอย เช่น พวกภาชนะใส่ของ ใบมีดที่ทำจากเปลือกหอยน้ำจืด ขวานกำปั้นซึ่งทำจากหิน อาวุธต่าง ๆ ที่ทำจากกระดูกสัตว์ อาทิ ลูกศร ปลายหอก ฉมวก แต่ก็พบรูปแกะสลักหินอยู่เหมือนกัน เชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์ หรือเพื่อขอบุตร
รูปสลักที่มีชื่อเสียงคือ วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ (ออสเตรีย)
วีนัสแห่งเวสโทนิค (เชก)
และวีนัสแห่งลอเซล (ฝรั่งเศส)
สถาปัตยกรรมคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุด น่าฉงนฉงายเป็นที่สุด เพราะไม่มีใครทราบคำตอบที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเพื่ออะไร มีแต่การคาดเดาไปต่างๆนานา สถาปัตยกรรมได้แก่
พวกหินตั้ง (Menhir) เป็นหินก้อนเดียวโดด ๆ วางตั้งอยู่
โต๊ะหิน (Stone hence) ประกอบด้วยหินสองแท่งหรือมากกว่าวางตั้งอยู่ และมีหินก้อนวางพาดอยู่ข้างบน โครงสร้างลักษณะนี้เรียกว่าโครงสร้างแบบวางพาด ซึ่งจะพบได้ในสถาปัตยกรรมในยุคต่อ ๆ มา  
หินตั้งล้อม (Stone circle) ประกอบด้วย โต๊ะหินต่อเนื่องกันล้อมเป็นวงกลม
 Alignments คือ หินตั้งเรียงกันเป็นแถวยาว

ยุค อียิปต์
ในยุคอิยิปต์มีตัวอักษรใช้กันแล้ว เรียกว่า อักษรภาพ ดังนั้นจึงจัดอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมของชาวอิยิปต์สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สร้างขึ้นตามแรงบันดาลใจทางศาสนาและความเชื่อ ศิลปกรรมมีลักษณะมั่นคง ถาวร ดังจะให้คงอยู่จวบจนถึงวันสิ้นโลกอะไรอย่างนั้น ยุคนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมาก คงไม่มีใครไม่รู้จักปิรามิด ปิรามิดที่พบมักจะสร้างเพื่อเก็บสมบัติและพระศพของฟาโรห์ ซึ่งก็คือผู้ปกครองประเทศนั่นเอง (มีนักวิชาการบางท่านบอกว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของปิรามิดไม่ได้มีไว้เพื่อฝังศพ) แต่ก่อนที่จะมีปิรามิดนั้นยังมี มาสตาบา มาก่อน และนี่แหละคือที่ฝังศพที่เก่าแก่ที่สุด ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นปิรามิด นอกจากนี้ยังมีโบสถ์ วิหารสร้างตามภูเขา และใช้โครงสร้างแบบวางพาด
ด้านประติมากรรมก็เป็นรูปแกะสลักรูปบุคคลที่เคารพนับถือ ทำไว้เพื่อเคารพบูชา จะใช้วัสดุที่ทนทานมีคุณค่า ส่วนงานทางด้านจิตรกรรมก็เป็นงานตกแต่งสุสานฝังศพ ทั้งบนหีบศพและตามผนังต่างๆ แสดงเรื่องราวพิธีกรรมทางศาสนา จนถึงชีวิตความเป็นอยู่ ลักษณะการจัดวางภาพคนจะแสดงให้เห็นทั้งด้านหน้าและด้านข้างในเวลาเดียวกัน คือ เห็นลำตัวด้านหน้า แต่ใบหน้า แขน ขา แสดงให้เห็นด้านข้าง อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของศิลปะอิยิปต์ ชนชาวอิยิปต์มีความสามารถในการประดิษฐ์ตกแต่งเครื่องประดับ รู้จักทำน้ำยาเคลือบ รู้จักลงยา และนำลวดลายตามธรรมชาติมาดัดแปลง ประกอบอย่างเหมาะสม
ยุค เมโสโปเตเมีย
อาณาจักรนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ประกอบด้วยชนชาติ ซูเมอเรียน บาบิโลเนีย แอสสิเรีย และเปอร์เซีย ตามลำดับ เริ่มจากซูเมอเรียนและบาบิโลเนีย ชนกลุ่มนี้เป็นพวกที่วางรากฐานความเจริญด้านวัฒนธรรมไว้มากมาย พวกเขารู้จักสร้างกำแพงเมือง (อาจเป็นเพราะมีการสู้รบกันบ่อย) และทำนบกั้นน้ำ มีความสามารถในการเพาะปลูก เมโสโปเตเมียแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนบนคือแอสสิเรีย ส่วนล่างคือบาบิโลน ซึ่งอุดมสมบูรณ์กว่าตอนบน เนื่องจากในดินแดนแห่งนี้ประกอบด้วยผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ ต่างความคิด ต่างความเชื่อ จึงมีการสู้รบแย่งชิงอำนาจอยู่บ่อยครั้ง
ศิลปกรรมมีความสอดคล้องกับความเชื่อ พวกเขาเชื่อในอำนาจของพระเจ้าตามธรรมชาติ เคารพดวงดาว แม่น้ำ ปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่หาคำตอบไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลด้วยเหมือนกัน
งานด้านสถาปัตยกรรมมักสร้างให้สูงใหญ่เหมือนภูเขา นิยมประดับแก้วหินในสถาปัตยกรรมนั้น ๆ ด้วย สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นได้แก่ ซิกกูรัตแห่งเมืองอูร์ ประติมากรรมมีทั้งแบบนูนต่ำ นูนสูง และลอยตัว ส่วนมากเกี่ยวกับเรื่องราวกิจกรรมของพระมหากษัตริย์ มีการประดับเปลือกหอย หินสี มีความสามารถในการแสดงออกและเลือกวัสดุได้อย่างเหมาะสม งานจิตรกรรม เขียนง่าย ๆ ไม่เน้นรายละเอียดไม่มีแสงเงา มีความคล้ายคลึงกับอิยิปต์อยู่เหมือนกันตรงการจัดวาง คือ ภาพหน้าคน แขน ขาจะหันข้างแต่ลำตัวหันด้านหน้า นอกจากนี้พวกเขายังมีอักษรใช้เช่นกัน อักษรของพวกเขาเรียกว่าอักษรลิ่ม
ยุค กรีก
ศิลปกรรมของกรีกจะยึดมั่นในเหตุผลและความสมบูรณ์ของมนุษย์ ต่างจากพวกอิยิปต์และเมโสโปเตเมียที่ใช้ศิลปกรรมไปในทางบูชา เซ่นสรวง เกี่ยวกับศาสนา พวกกรีกถือว่า ร่างกายของมนุษย์เป็นความงามตามธรรมชาติดุจเช่นเดียวกับภูเขา ต้นไม้ สายน้ำ ดังนั้น ศิลปกรรมของชาวกรีกจึงแสดงถึงความสมบูรณ์ของร่างกายมนุษย์อย่างชัดเจน งานประติมากรรมภาพคนจะแสดงให้เห็นถึงกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด ปราศจากเครื่องนุ่มห่ม
ด้านสถาปัตยกรรม แรก ๆ นิยมเอาไม้มาเป็นวัสดุก่อสร้าง สถาปัตยกรรมของชาวกรีกจะมีไว้รับใช้สังคมเป็นส่วนมาก เช่น สถานแสดงกีฬา โรงละคร วิหาร ลักษณะการตกแต่งภายนอกได้แก่หัวเสานั้น มีอยู่ด้วยกัน แบบ ดังนี้
1. ดอริค มีลักษณะใหญ่ ทรงป้อม
 2. ไอโอนิค ลักษณะชะลูด ทรงสูง
 3. โครินเธียน มีลักษณะคล้ายทรงของพืช
งานด้านจิตรกรรมพบได้บนผนังต่างๆ และบนภาชนะ มีลักษณะเด่นๆคือ
1. แสดงความรู้สึกตื้นลึกด้วยการเขียนซ้อนกัน
 2. ใช้สีจำกัดและแบน
3. ใช้ลวดลายประกอบกิจกรรมรูปคน
4. เรื่องราวของภาพประกอบในไหเป็นเรื่อง อิเลียดและโอดิสซี แบ่งเป็นตอนๆ
5. นิยมใช้สีดำและสีแดงเขียนด้วยน้ำยาเคลือบ
 6. ลักษณะง่าย ชัดเจน

ยุค อีทัสคัน และโรมัน
อิทรัสคัน เป็นชนชาติที่อยู่บนแหลมอิตาลี พวกเขามีความเป็นนักรบชั้นยอดในขณะเดียวกันก็เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมด้วย ลักษณะงานทางสถาปัตยกรรมนิยมวางผังเป็นรูปแบบสี่เหลี่ยมง่าย ๆ ใช้โครงสร้างแบบวางพาด (อีกเช่นเคย) มีการนำอิฐมาก่อสร้าง มีการสร้างท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ ภายหลังพัฒนาจนมีประตูโค้ง เพดานโค้ง มีการเปลี่ยนแปลงหัวเสามาเป็นแบบของตัวเอง เรียกว่า ทัสคัน
งานประติมากรรมมีการเน้นส่วนละเอียด เน้นรูปทรงตามวัสดุ ชำนาญการหล่อโลหะโดยเฉพาะโลหะสำริด ส่วนงานด้านจิตรกรรมมีลักษณะเป็นสีแบน เขียนตามผนังประดับที่ฝังศพ ได้รับอิทธิพลมาจากกรีก และอิยิปต์
เมื่ออิทรัสคันเสื่อมอำนาจลง พวกโรมันก็เรืองอำนาจและเข้าปกครองแหลมอิตาลีแทน โรมันอาจได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ทางการทหาร แต่ทางด้านศิลปกรรมกลับอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรีกและอิทรัสคัน ศิลปะของพวกโรมันคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยต่อสาธารณชนมากกว่าความงดงาม
สถาปัตยกรรมของพวกเขามีลักษณะโค้ง เป็นโดม รับกับคาน มีการผสมผสานหัวเสาแบบไอโอนิคกับโครินเธียนเข้าด้วยกัน เป็นหัวเสาแบบคอมโพสิท และยังคิดหัวเสาแบบทัสแคน (ซึ่งคล้ายๆกับหัวเสาดอริค) ขึ้นมาอีกด้วย
พวกเขามีโฟรุม คือจัตุรัสที่พบปะและสังสรรค์ของประชาชนทางกฎหมายและธุรกิจต่าง ๆ
มีบาสิลิกา เป็นอาคารขนาดใหญ่ ใช้เป็นศาลยุติธรรมหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ
มีโคลอสเซียม เป็นสนามกีฬา มีโรงละคร และสถานที่อาบน้ำ มีการสร้างท่อลำเลียงน้ำ มีประตูชัย สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอีกอย่างก็คือ วิหารแพนธีออน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของเทพเจ้าโรมัน
ประติมากรรมของโรมันมีความสำคัญในฐานะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความรู้สึกบนใบหน้าคนจะแสดงออกได้ดีกว่ากรีก แต่โดยภาพรวมทั้งหมดงานของกรีกจะดูสมบูรณ์แบบกว่า งานทางด้านจิตรกรรมใช้ตกแต่งสถาปัตยกรรม มีทั้งภาพระบายสีและงานประดับโมเสค มีการสร้างภาพลวงให้มีระยะใกล้ไกล มีแสงและเงา
ยุค กลาง
 ยุคกลางนี้บางครั้งก็จะเรียกว่า ยุคมืด นั่นเพราะว่ายังไม่ได้มีการค้นพบลักษณะเด่นๆมากนัก สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงคือ วิหารเซนต์มาร์ติน ในฝรั่งเศส ซึ่งแสดงว่ายังใช้โครงสร้างแบบวางพาดอยู่ สถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนบุคคลมักจะสร้างให้ใหญ่โต มีกำแพงสูงและหนา มั่นคงแข็งแรง พยายามสร้างความสมบูรณ์ของชีวิตมากที่สุด
ด้านประติมากรรมสร้างเพื่อตกแต่งผนัง ไม่นิยมสัดส่วนตามธรรมชาติ ด้านจิตรกรรมยังคงเป็นภาพผนัง มีภาพคนเหมือนบ้าง และมีการจัดทำเอกสารประกอบภาพเขียนระบายสีอย่างงดงาม ยุคกลางนี้ บ้างก็แบ่งสมัยตามกษัตริย์ที่มีอำนาจปกครอง เป็นสมัยคาโรลิงเจียน สมัยออตโตเนียน และสมัยโรมาเนสค์
ยุค โกธิค
นักวิจารณ์ในยุคฟื้นฟูเห็นว่ายุคนี้เป็นความต่ำต้อย ขาดรสนิยมทางศิลปะ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกรีก และโรมัน แต่พวกศิลปินเห็นว่านี่เป็นศิลปะแบบใหม่ที่มีแบบเฉพาะของตัวเอง เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
สถาปัตยกรรมนิยมสร้างให้มีรูปทรงสูงชะลูด ใช้โค้งหลังคาแบบต่าง ๆ เพื่อเฉลี่ยน้ำหนักของหลังคาลงบนเสา และผนัง ประติมากรรมส่วนใหญ่ สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบสถาปัตยกรรมอีกที เป็นเรื่องราวทางศาสนาและมีลักษณะสูงชะลูด เป็นแบบลอยตัวยื่นออกมาจากผนังหรือกำแพง
งานจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นการเขียนภาพประกอบหนังสือ และที่โดดเด่นเห็นจะเป็นการเขียนภาพบนกระจกสี เรียกว่า Stained glass ประดับบริเวณเหนือประตู หน้าต่าง เพื่อให้แสงส่องผ่าน งานจิตรกรรมในยุคนี้ใช้สีสดใส สว่าง มีลายเส้นวิจิตร และมีองค์ประกอบง่าย ๆ แต่ดึงดูดใจมาก
สมัย ฟื้นฟู
ในยุคนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่อิตาลี เป็นการนำศิลปะของกรีก และโรมันมาปัดฝุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิชาการด้านอื่นๆทุกแขนง ด้วยความเชื่อที่ว่า มนุษย์คือศูนย์กลางของจักรวาล เป็นผู้ควบคุมธรรมชาติ ยึดมั่นในเหตุผล และถือว่าคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ความรู้ ความคิด ความสามารถของตนเอง
สถาปัตรยกรรมนำเอาหลังคาโค้ง เสาแบบต่าง ๆ ของกรีกมาปรับปรุง ทำให้มีลักษณะเฉพาะขึ้น ประติมากรรมก็เช่นเดียวกัน และมักสร้างขึ้นประกอบสถาปัตยกรรม
จิตรกรรมสมัยนี้เน้นเรื่องราวของชีวิตและสิ่งแวดล้อม ภาพคนจะมีความโดดเด่นเป็นประธานของภาพ ด้านหลังอาจจะเป็นภาพภายในตัวอาคาร หรือไม่ก็ภูมิประเทศ มีการใช้แสงเงาที่เหมือนจริง เก็บรายละเอียดของพื้นผิวต่าง ๆ ประณีตงดงาม
ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ Davinci , Michelangelo , Raphael เรียกว่า เป็นสามยอดอัจฉริยบุคคลที่เกิดมาร่วมเมืองร่วมสมัยเดียวกัน
สมัย บารอค
ศิลปะแบบบารอคจะเน้นหนักไปทางธรรมชาติ แสดงความอ่อนไหว มีลวดลายประดิษฐ์มาก ซับซ้อน
คำว่า บาโรค มาจากภาษาโปรตุเกส ที่แปลว่า รูปร่างของไข่มุกที่มีสัณฐานเบี้ยว เป็นคำที่ใช้เรียกลักษณะงานสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมที่มีการตกแต่งประดับประดา และให้ความรู้สึกอ่อนไหว
หลังจากบารอคก็มีศิลปะแบบ รอคโคโค ตามมา มีลักษณะคล้ายคลึงกับบาโรคเพียงแต่เน้นที่ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น จิตรกรที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ได้แก่ รูเบนส์ เรมบรานด์ เวลาสเควซ เป็นต้น
ศิลปะในแบบบาโรค และรอคโคโคนั้นใกล้เคียงกันมาก มีบางคนได้เปรียบเปรยว่า ถ้าบาโรคเหมือนกับบุรุษเพศที่มีความองอาจ สง่างาม รอคโคโคก็เหมือนกับสตรีเพศที่มีความงดงามที่นุ่มนวลและอ่อนช้อย คำกล่าวนี้คงจะพอทำให้เข้าใจถึงศิลปะทั้งสองแบบได้ดียิ่งขึ้น
สมัย คลาสสิก
ในสมัยคลาสสิก เป็นยุคที่ยุโรปมีความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยมีสงครามเป็นแรงผลักดัน ในทางปรัชญาถือว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งเหตุผล (แม้ว่าหลาย ๆ คนจะเห็นว่าสงครามเป็นเรื่องไร้เหตุผลก็ตาม)
ดังนั้นงานศิลปะในยุคนี้จึงเป็นงานที่เน้นทางด้านเหตุผลด้วยเช่นกัน
Jacques Louis David จิตรกรผู้ที่ถือว่าเป็นผู้นำในศิลปะคลาสสิกนี้ กล่าวไว้ว่า ศิลปะคือดวงประทีปของเหตุผล ลักษณะงานต้องมีความถูกต้องตามหลักกายวิภาค มีความคิดสร้างสรรค์ตามเรื่องราวที่มีเหตุผล ให้ความสำคัญกับการจัดภาพ
สมัยโรแมนติก
แนวความคิดของศิลปะโรแมนติกนั้นต่างจากพวกคลาสสิกกันคนละขั้ว เพราะโรแมนติกยึดมั่นในเรื่องของจิตใจ ถือว่าจิตเป็นตัวกำเนิดของตัณหา อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นความจริงของมนุษย์มากกว่าการยึดมั่นในเหตุผลตามแนวคิดของคลาสสิก พวกศิลปินเชื่อว่า ศิลปะสร้างสรรค์ตัวของมันเองได้ และต้องมีคุณค่าทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล
ศิลปะต้องสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างผู้เสพและผู้สร้าง มุ่งสร้างศิลปะเพื่อให้กลมกลืนกับชีวิต มุ่งที่ความ"กลายเป็น"ตัดกับความ"เป็นอยู่"
งานทางด้านจิตรกรรมจะแสดงความตัดกันของน้ำหนักแสงและเงา ใช้สีที่ตัดกัน จิตรกรที่สำคัญได้แก่ Theodore Gericault , Eugene Deracroix ในงานจิตรกรรมนี้เป็นช่วงเวลาระหว่างค.ศ.1820-1850
สมัย เรียลลิสม์
ศิลปะมักเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลมกลืนกับสภาพชีวิตในแต่ละยุคสมัย
ศิลปะคลาสสิก และโรแมนติก ยังคงยึดแนวของกรีกและโรมันอยู่ไม่น้อย
ศิลปินรุ่นหลังเห็นว่า ศิลปะทั้งสองไม่ได้แสดงความกลมกลืนของชีวิต ยังคงลักษณะความเป็นอุดมคติอยู่ หาใช่ความจริงไม่
ดังนั้นการสร้างงานในยุคต่อมา ซึ่งเราเรียกกันว่า เรียลลิสม์ นั้น จึงสร้างงานตามสภาพความเป็นจริงศิลปินเชื่อว่าความงามอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะในที่เลิศหรูเช่นพระราชวัง หรือที่เรียบง่ายตามชนบทก็ตาม อีกทั้งยังเชื่อกันว่าศิลปะนั้นสอนกันไม่ได้ เพราะศิลปะเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แต่ละคนมีความสามารถต่างกัน ศิลปะ คือ การเลียนแบบตามตาเห็น ศิลปินควรบันทึกเหตุการณ์ที่เป็นความจริงในยุคสมัยของตนเอาไว้ ไม่ใช่สร้างงานแบบโบราณนิยม (ถือว่าเป็นการปฏิเสธแนวคลาสสิกและโรแมนติคอย่างเห็นได้ชัด)
ศิลปินอย่าง โกยา อยู่ในช่วงรอยต่อของโรแมนติก และเรียลลิสม์ งานของเขาแสดงออกทั้งความเป็นจริงและแสดงออกถึงความสะเทือนอารมณ์ (โรแมนติก) ไปพร้อม ๆ กัน โกยาให้ทัศนะคติไว้ว่า ในธรรมชาติไม่มีใครเห็นเส้น มีแต่รูปทรงที่สว่างและมืด ระนาบใกล้ ไกล กลวง และยื่นโปนออกมา ทัศนะเช่นนี้จะปรากฏได้ชัดในงานยุคหลังถัดจากนี้ไป
เนื่องด้วยในช่วงเวลานี้ยุโรปได้ตกอยู่ในสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม ชนชั้นกรรมาชีพก็เพิ่มมากขึ้น ศิลปินจึงสะท้อนภาพความลำบากของชนชั้นเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ โดมิเยร์ มิเลท์ , กูร์เบท์
สมัย อิมเพรสชั่นนิสม์
งานเรียลลิสม์ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ลามไปเหมือนไฟลามทุ่ง จนกลายเป็นแฟชั่นที่นิยมกันทั่วไปจนดูเฟ้อ ในขณะที่คนกำลังเริ่มเบื่อหน่ายพลันเกิดศิลปะแนวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ เป็นศิลปะที่เขียนภาพทิวทัศน์ได้อย่างสมจริงสมจังที่สุด กล่าวคือ สามารถสะท้อนบรรยากาศ เวลา ความเคลื่อนไหวของผิวน้ำ อากาศ ออกมาได้เป็นอย่างดี แต่เทคนิคในการเขียนนั้นหยาบกระด้าง โชว์ฝีแปรงให้เห็นชัด ๆ โดยไม่มีการเกลี่ย ต่างจากการเขียนรูปในแบบเดิม ๆ อย่างสิ้นเชิง จนหลาย ๆ คนปรับตัวรับไม่ทัน
อิมเพรสชั่นนิสม์ได้เข้าถึงจุดสุดยอดของเรื่องแสง ก่อนหน้านั้น ศิลปินจะสร้างภาพให้มีระยะตื้นลึกโดยใช้เส้นเป็นสื่อนำสายตา แต่ศิลปินกลุ่มนี้เพิ่มเติมมิติของอากาศลงไป พวกเขานำหลักทฤษฎีสี แสงอาทิตย์มาช่วยให้สีมีความกระจ่างสดใสมากขึ้น พวกเขาจะไม่ใช้สีดำ เพราะถือว่าสีดำไม่มีในธรรมชาติ เน้นรูปทรงที่เกิดขึ้นด้วยแสงและเงา รวมทั้งแสงที่สะท้อน และเงาที่ตกทอดด้วย
ศิลปินจะถือธรรมชาติเป็นใหญ่ ขจัดความฝัน จินตนาการหรืออารมณ์ส่วนตัวออกไป ยึดหลักทฤษฎีสี เคารพสีแสงที่อยู่ต่อหน้า พยายามจับแสงสีในอากาศให้ได้สภาพของกาลเวลา มุ่งที่ความประทับใจในฉับพลัน
สมัย โพสท์  อิมเพรสชั่นนิสม์
หลังจากอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็ยังมีโพสท์-อิมเพรสชั่นนิสม์ตามมา ศิลปินกลุ่มนี้ ได้เกิดปฏิกิริยาต่องานอิมเพรสชั่นนิสม์ พวกเขาทำงานตามความคิด ความเชื่อมั่นของตนเอง ไม่มีความสัมพันธ์หรือจัดเป็นกลุ่ม (ออกจะทะเลาะกันด้วยซ้ำไป) งานแตกต่างกันไปคนละอย่าง
แต่ในความต่างนั้น มีความเหมือนอยู่ที่แนวความคิดในการค้นหา และเน้นความสำคัญของรูปทรงใหม่ ๆ สีทุกสีย่อมมีคุณค่าในตัวของมันเอง ภาพจะต้องมีความเป็นเอกภาพ และที่สำคัญก็คือ มีการแสดงออกของอารมณ์เฉพาะตน
นักวิจารณ์ศิลปะผู้หนึ่งชื่อว่า โรเจอร์ ฟราย ได้กล่าวไว้ว่า ศิลปินกลุ่มนี้ไม่ยอมรับความเชื่อในการเขียนภาพให้มีรายละเอียด หรือการเลียนแบบธรรมชาติ ศิลปินกลุ่มนี้พยายามสร้างรูปทรงใหม่ขึ้นมา โดยที่รูปทรงนั้นมีความสัมพันธ์ต่อชีวิตจริง มีการตัดทอนรูปทรงให้ง่ายขึ้น ภาพทุกภาพแทนที่จะบอกให้ผู้ดูทราบว่าเป็นภาพอะไร อยู่ที่ไหน กลับกระตุ้นผู้ดูให้รู้สึกอย่างไรแทน คล้ายกับมีความรู้สึกคล้อยตามเสียงดนตรีมากกว่าที่จะเข้าใจตามรูปถ่าย (ในสมัยนั้นมีการผลิตกล้องถ่ายรูปแล้ว จริง ๆผลิตมาตั้งแต่ช่วงโรแมนติคตอนปลายนั่นแหละ)
ศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นได้แก่ พอล เซซานน์ (ผู้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากโกยาแบบเต็มๆ) วินเซนต์ ฟาน กอห์ก พอล โกแกง ,ตูลูส โลแตรค
สมัย นีโอ  อิมเพรสชั่นนิสม์
นีโออิมเพรสชั่นนิสม์ เป็นงานที่เกิดขึ้นจากแนวคิดทางทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงแสงว่าเป็นทั้งพลังงานและอนุภาค นีโออิมเพรสชั่นนิสม์ใช้แนวคิดที่ว่าแสงเป็นอนุภาค มาสร้างงานในลักษณะการแต้มสีเป็นจุดเล็ก ๆ ลงบนภาพ โดยใช้สีบริสุทธิ์ที่ไม่มีการผสม แต่พวกเขาจะให้สีผสมกันที่สายตาผู้ดู เช่นว่าถ้าต้องการสีเขียว เขาก็จะแต้มสีน้ำเงินกับสีเหลืองคละเคล้ากัน แล้วสีทั้งสองก็จะมาผสมกันเป็นสีเขียวที่สายตาเอง ผู้นำในแนวนี้ได้แก่ จอร์จ เซอราท์
ศิลปินที่ร่วมกลุ่มได้แก่ พอล ซียัค แมกซีมิเลียน ลูซ อองรี เอ็ดมองด์ กรอส พวกเขาเชื่อในทฤษฎีของล็อกเคน รูด ที่บอกว่า การผสมสีในดวงตาจะเกิดผลให้ความสว่างสดใสยิ่งกว่าการผสมสีบนจานสี เป็นที่น่าเสียดายที่ศิลปินกลุ่มนี้มีอายุเพียงเจ็ดปี เนื่องจากจอร์จ เซอราท์ผู้นำกลุ่มได้เสียชีวิตลงนั่นเอง

สมัย โฟวิสม์
ณ งานแสดงศิลปะที่ซาลงโดตอน ในปีค.ศ.1905 การแสดงครั้งนี้เป็นการแสดงผลงานที่คละเคล้ากันไประหว่างงานยุคเก่าและงานยุคใหม่ ในงานยุคเก่าคือ ผลงานประติมากรรมแบบ Renaissance ของศิลปินโดนาเตลโล กับงานยุคใหม่โดยจิตรกรร่วมสมัยในยุคนั้นซึ่งมีรูปแบบและสีสันที่รุนแรง ดุดัน อันเป็นลักษณะตรงกันข้ามกับศิลปะ Renaissance เลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อนักวิจารณ์ที่ชื่อ หลุยส์ โวเซลล์ได้เข้ามาชมงานจึงเกิดความรู้สึกว่า ผลงานของโดนาเตลโลอยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า(fauv)ซึ่งสัตว์ป่าในที่นี้ หลุยส์ โวเซลล์หมายถึง ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่แสดงอยู่ร่วมกันนั่นเอง แม้เขาวิจารณ์ด้วยความรู้สึกกระแทกแดกดันมากกว่าชื่นชม แต่กลุ่มศิลปินเหล่านี้กลับเห็นดีเห็นงามกับคำวิจารณ์ของเขาไปเสียนี่ ดังนั้นพวกเขาจึงยินดีใช้ชื่อกลุ่มว่า Fauvism ไปเสียเลย
ศิลปะแนวนี้เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศสโดย อองรี มาติสส์ คือผู้นำของกลุ่ม งานของพวกเขาเป็นการหาแนวทางใหม่ให้กับโลกศิลปะ ฉีกกฎเกณฑ์เก่า ๆ อันคร่ำครึ สร้างงานตามสัญชาตญาณการแสดงออกอย่างเต็มที่ ใช้สีสดใส รุนแรง มีลีลาสนุกสนาน มีการตัดเส้นอย่างเด่นชัด แม้ว่าจะใช้สีตัดกันอย่างรุนแรงแต่ก็เข้ากันได้อย่างประสานสัมพันธ์ ผลงานโดดเด่นที่ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินซึ่งแสดงออกอย่างเสรี มาติสส์ได้รับแนวคิดจาก เซซานน์ ทางรูปทรงและความรู้สึก แล้วนำมาปรับปรุงใหม่
"สิ่งที่ข้าพเจ้าฝันถึงคือ ศิลปะแห่งความสมดุล ความบริสุทธิ์และความสงบ โดยไม่พะวงถึงเรื่องราว ศิลปะที่ข้าพเจ้าต้องการเป็นศิลปะที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด ศิลปะคล้ายกับเก้าอี้โยกอย่างดีที่ให้ความสบาย คลายความเมื่อยล้าของร่างกายอย่างไรอย่างนั้น"
"โลกภายนอกที่เห็นชัดเจนนี้มีอยู่ในจิตใจของศิลปิน และความรู้สึกของสีขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความสัมพันธ์ของรูปและสีต้องสมดุลกันตามที่ศิลปินต้องการ"
"ในการมองภาพจิตรกรรม ควรจะลืมเสียเถิดว่ามันเป็นเรื่องอะไร"
"นั่นไม่ใช่รูปผู้หญิง แต่เป็นรูปเขียนผู้หญิง" เหล่านี้ คือความคิดของ อองรี มาติสส์ ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าเขาเป็นคนหัวก้าวหน้า กล้าคิด กล้าทำขนาดไหน มิหนำซ้ำยังกล้าวิจารณ์งานในแบบ นีโอ-อิมเพรสชั่นนิสม์อีกว่า การใช้สีแต้มจุดแบบนั้นเป็นเพียงกลวิธี หาใช่ความสุนทรีย์ไม่



สมัย เอ็กซเพรสชั่นนิสม์
ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ กลุ่มโฟวิสม์ อุบัติขึ้นที่ฝรั่งเศสนั้น ที่เยอรมัน ก็มีกลุ่มเอ็กซเพรสชั่นนิสม์เกิดขึ้นมาใหม่เหมือนกัน โดยศิลปินกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลแนวคิด คตินิยมต่อจากฟาน กอห์ก
และโกแกง โดยตรง
นั่นคือการแสดงออกถึงอารมณ์ภายในอันเร่าร้อนรุนแรง การใช้สีและการตัดเส้นรอบนอก เพื่อให้รูปทรงดูเด่นชัดและแข็งกร้าว พวกเขาสะท้อนแนวคิดที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง แสดงความสกปรก ความหลอกลวง ความเลวร้ายของสังคม ต่างจาก โฟวิสม์ ซึ่ง กลุ่มโฟวิสม์ ที่ฝรั่งเศสไม่ได้เน้นเนื้อหาตรงนี้
ทว่าความคิดที่สอดคล้องต้องกันของทั้งสองกลุ่มก็คือ พวกเขาคิดว่า ศิลปกรรมของยุโรปโดยทั่วไปมีแนวโน้มการแสดงออกไปในด้านที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความจริง
ศิลปินต่างเสแสร้งและปิดบังโลกแห่งความเป็นจริง คำนึงถึงความงามแต่อย่างเดียว ทำให้มันดูสูงสง่า เป็นของเข้าใจยาก ศิลปินทั้งสองกลุ่มไม่ได้ยึดแนวทางดั้งเดิม เรียกว่า พวกเขามีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อความงามทางศิลปะก็ว่าได้ แล้วหันมาเสนองานที่กล้าเผชิญหน้าตรง ๆ ระหว่างโลกและมนุษย์
แต่การแสดงออกของทั้งสองกลุ่มก็มีแนวทางแตกต่างกัน โฟวิสม์ใช้อารมณ์สร้างรูปแบบส่วนเอ็กซเพรสชั่นนิสม์ปล่อยให้รูปแบบแสดงอารมณ์
พวกเอ็กซเพรสชั่นนิสม์แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งชื่อกลุ่มสะพาน (die brucke) ประกอบด้วย Ernst Ludwig Kirchner,Karl Schmidt Rottluff,Eric Hegkel,Max Pechstein,Emile Nolde ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มนักขี่ม้าสีน้ำเงิน (Der Blaue Reiter) ประกอบด้วย Franz Marc,Wassily Kandinsky,Paul Klee,Lyonel Feiniger,August Macke,Heinrick Campendonk
หลักสุนทรียภาพของพวกเขาอยู่ที่การแสดงออกอย่างรุนแรงเกินความจริง มีการบิดผันรูปทรงต่าง ๆ ให้ดูหมุนเวียน มีการเคลื่อนไหว แสดงเส้นอย่างเด่นชัด ชอบใช้สีดำ (ต่างจากอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ไม่ใช้สีดำ เพราะถือว่าสีดำไม่มีอยู่ในธรรมชาติของแสง) และใช้สีที่ตัดกันอย่างรุนแรง ชอบในรูปทรงง่าย ๆ แต่สามารถสร้างอารมณ์อย่างถึงขีดสุด

สมัย คิวบิสม์
มันเริ่มต้นมาจาก พอล เซซานน์ ที่ค้นหาความงามจากรูปทรงต่าง ๆใ นธรรมชาติ เซซานน์ ว่าศิลปินควรดูความงามของธรรมชาติจากรูปทรงของเหลี่ยม ลูกบาศก์ ค้นหาโครงสร้างตามความจริงที่เป็นแท่ง ๆ มากกว่าจะไปเน้นที่รายละเอียด
พาโบล ปิกัสโซ นำแนวความคิดนี้มาพัฒนาต่อจนเป็นรูปแบบของตนเองและทำให้เขาโดดเด่นเป็นผู้นำในศิลปะแนวนี้ เขาสร้างรูปทรงเป็นแบบเรขาคณิต หาโครงสร้างมาแยกย่อยแล้วประกอบเข้ากันใหม่ ใช้สีแบน ๆ บางทีเอาด้านหน้าและด้านหลังมาประกอบพร้อม ๆ กันเพื่อให้ผู้ดูได้เห็นวัตถุนั้นทั้งสองด้านในคราวเดียวกัน เป็นการแก้ปัญหาของภาพเขียนที่มีเพียงสองมิติและตาเห็นได้แค่ด้านเดียว หลักสุนทรียศาสตร์อยู่ที่ กฎของการควบคุมความรู้สึก อารมณ์การแสดงออกต้องมีการพิจารณากลั่นกรองเสียก่อน ใช้สีมัว ไม่สด ไม่รุนแรง
คิวบิสม์แบ่งออกได้เป็นสามยุค ในยุคแรก คิวบิสม์วิเคราะห์ งานมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์รูปทรงให้พัฒนานอกเหนือจากสภาพที่เป็นอยู่ในธรรมชาติ เน้นเรื่องน้ำหนัก ความแข็งแรงของวัตถุและปริมาตร ศิลปินจะมองสิ่งต่าง ๆ คล้ายผลึกแก้วหรือเพชรได้รับการเจียระไนให้เกิดเหลี่ยมเป็นแง่เป็นมุม และยังทำให้โปร่งแสงแสดงรอยที่ซ้อนทับกัน เพื่อทำให้เกิดมิติ ในยุคแรกนี้ยังมีร่องรอยของธรรมชาติปรากฏอยู่
ยุคที่สอง ยุคทองของคิวบิสม์วิเคราะห์ ศิลปินจะจำแนกวัตถุออกเป็นส่วนต่างๆ ขยายให้เกิดมุมเด่นชัดขึ้น แล้วก็ผสมผสานวัตถุต่าง ๆ ให้ประสานสัมพันธ์กันทั้งภาพ ไม่แสดงส่วนละเอียด สีในภาพเป็นสีเทาอมน้ำตาล นำวัตถุที่ถูกมองจากมุมมองที่ต่างกัน ทั้งเบื้องบน ด้านข้าง ด้านหน้า หรือด้านใด ๆ ก็แล้วแต่มารวมกันให้เกิดเอกภาพ อยู่ในองค์เดียวกัน ทางด้านรูปทรงก็ถูกทำลายจนเกือบอยู่ในสภาพนามธรรมอยู่แล้ว
ยุคที่สาม คิวบิสม์สังเคราะห์ ผลงานในยุคนี้เริ่มมีการนำวัสดุต่าง ๆ มาคละเคล้าปะติดรวมกันกับการวาดภาพ วัสดุเหล่านี้อาจเป็นกระดาษ ผ้า ฯลฯ วิธีเช่นนี้เรียกว่า Collage มีการเขียนตัวหนังสือหรือชไม่ก็ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ปะลงผืนผ้าใบทำให้เกิดอารมณ์ทางด้าน Novel Tactile Value (แปลว่า คุณค่าในการรับรู้ด้วยการนำอักษรมาเป็นสื่อนำความเข้าใจ) การจัดภาพในยุคนี้เป็นอิสระกว่าเดิม มีการสังเคราะห์ในเรื่องของเส้นให้มีความใกล้ชิดกับเส้นเรขาคณิตมากขึ้น
กล่าวคือเส้นตรง โค้งเป็นระเบียบ โดยไม่มีเส้นแบบอ่อนไหวที่ไม่เป็นระเบียบ ให้ความสำคัญกับการจัดวาง กลายเป็น"การเล่นของวุฒิปัญญา"
สมัย ฟิวเจอริสม์
ศิลปะเพื่ออนาคต ฟิวเจอริสม์ ถือเป็นคำประกาศของการสิ้นสุดยุคสมัยศิลปกรรมในอดีต และเป็นการเกิดใหม่ของศิลปะอีกยุคหนึ่ง ศิลปินกลุ่มนี้เกิดขึ้นที่อิตาลี นับถือความเร็วเป็นพระเจ้า ว่ากันว่ารถจักรยานยนต์ที่ส่งเสียงคำรามกึกก้องราวกับปืนกลนั้น มีความสวยงามยิ่งกว่ารูปประติมากรรมสลักหินอ่อนที่ชื่ออนุสาวรีย์ชัยชนะแห่งซาโมเธรสเสียอีก (ว่าเข้าไปนั่น) พวกเขาคัดค้านความคิดในสุนทรียภาพตามแบบฉบับของคลาสสิกโบราณ ดังนั้นจึงควรรื้อเมืองโบราณ เผาพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดซึ่งเป็นที่รวมความคิดมอมเมาประชาชนในยุคปัจจุบันของคนโบราณเสียให้หมด (อะไรจะขนาดนั้น) พวกเขาชิงชังความคิดอันเพ้อฝัน ความงามของพวกเขาขึ้นอยู่กับสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อย่างพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องบิน สิ่งที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็ว พวกเขายึดหลักอยู่สองประการคือ ความเคลื่อนไหวของร่างกายในอากาศ และความเคลื่อนไหวของวิญญาณในร่างกาย (สุดท้ายศิลปะก็หนีไม่พ้นเรื่องของจิตวิญญาณอยู่ดี)
ศิลปินใช้วิธีวาดให้เกิดภาพลวงตา ซึ่งคิดขึ้นมาจากทฤษฎีวัตถุที่ประจักษ์แก่สายตา โดยผ่านการทดลองให้เห็นจริงมาแล้ว จากภาพถ่ายหรือภาพยนตร์ พวกเขาค้นหาความจริงของการเปลี่ยนรูปทรง ซึ่งจะสูญเสียความมีปริมาตรเมื่อรูปทรงนั้น ๆ เคลื่อนไหว ศิลปินที่เป็นผู้นำของกลุ่มคือ Umberto Boccioni พวกเขาถือว่า รูปทรงที่ได้รับการถ่ายทอดให้เหมือนจริงตามแบบทั้งหมด เป็นสิ่งที่น่าดูถูกเหยียดหยาม รูปทรงที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์จึงจะเป็นสิ่งที่น่ายกย่องแสนประเสริฐ
ผลงานแสดงออกถึงความวุ่นวายของชีวิตในยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบของภาพ
ลัทธิกลศาสตร์ ที่ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของจักรวาล ต้องมีอยู่ในงานจิตรกรรม พร้อมกับการแสดงความเคลื่อนไหว พวกเขากล่าวว่า คำว่า "คนบ้า" เป็นคำที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปากพวกหัวก้าวหน้าทั้งหลาย ดังนั้นควรพิจารณาด้วยความเป็นธรรม
บ็อชชินี่บอกว่างานของพวกเขาไม่ใช่การก่อรูปของร่างกาย แต่เป็นการก่อรูปของการกระทำของร่างกาย หมายความว่างานทุกชิ้นจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวนั่นเอง แต่กลุ่มฟิวเจอริสม์นี้มีอายุสั้น เนื่องจากช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ.1914)ผู้นำกลุ่มคือบ็อชชินี่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เขาได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และเสียชีวิตลงในปี 1916 ผู้ที่เคยร่วมอุดมการณ์ต่างก็แยกย้ายไปหาแนวทางอื่นในการทำงานของตนต่อไป


ศิลปะ นามธรรม
สุดยอดของงานที่ดูแล้วไม่รู้เรื่องที่สุดก็คืองานในแนว แอบสแตรก นี่เอง การแสดงออกของงานนามธรรมมีหลักกว้าง ๆ อยู่สองแนวคือ
1. ตัดทอนสิ่งต่าง  ๆ ที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติ ให้มีรูปทรงที่ง่ายหรือเหลือแต่แก่นแท้
2. สร้างรูปทรงที่ไม่ต้องการเสนอเรื่องราวใดๆเป็นพื้นฐาน อย่างเช่น รูปทรงเรขาคณิต มาใช้ในการสร้างงาน
ศิลปะนามธรรมนี้ยังแบ่งออกเป็นสองแบบด้วยกัน ได้แก่ แบบโรแมนติก เป็นงานที่แสดงความรู้สึกอย่างมีอิสระ มีอารมณ์เป็นพื้นฐาน แสดงความรู้สึกภายในออกมาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า In formalist (ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์)
แบบคลาสสิก ซึ่งมีสิ่งดลใจจากรูปทรงเรขาคณิต มีการวางแผน มีกฎเกณฑ์ กฎที่ว่าอาจคิดขึ้นเองได้ พวกนี้เรียกว่า Formalist (มีระเบียบกฎเกณฑ์)
Wassily Kandinsky (คนเดียวกับที่อยู่ในกลุ่มนักขี่ม้าสีน้ำเงินนั่นแหละ) นับเป็นคนแรกที่ทำงานในแนวนี้ เขามีหลักในการทำงานด้วยการใช้สีสดบริสุทธิ์ เน้นเรื่องสีและรูปทรง ที่จะเป็นหลักการติดต่อระหว่างเจตนากับวิญญาณของมนุษย์
ทางด้านองค์ประกอบ มีจุดประสงค์ในการรวมตัวของสีและรูปทรงที่ดำรงอยู่อย่างอิสระ การรวบรวมไว้โดยความจำภายในใจ และกลับฟื้นมาอีกในรูปทรงทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า ภาพ
เขากล่าวว่างานศิลปะประกอบด้วยสองสิ่งคือ สิ่งที่อยู่ภายใน กับสิ่งที่อยู่ภายนอก สิ่งที่อยู่ภายในคืออารมณ์ ความรู้สึกในวิญญาณของศิลปิน
ความรู้สึกนี้มีความยิ่งใหญ่ต่อการปลุกเร้า ความรู้สึกให้คล้ายคลึงกับที่มีอยู่ในผู้ชม (ผู้ชมคือสิ่งที่อยู่ภายนอก) เมื่อความรู้สึกของทั้งสองคือฝ่ายศิลปินและผู้ชมมีความคล้ายกันและมีค่าเท่าเทียมกัน ย่อมหมายความว่างานศิลปะชิ้นนั้น ๆ ประสบความสำเร็จ สิ่งที่อยู่ภายในนั้นต้องมีอยู่ งานศิลปะเป็นเพียงสิ่งสมมติ ดังนั้น สิ่งที่อยู่ภายในจะเป็นสิ่งกำหนดงานศิลปกรรม
กำเนิดแห่งแรงดลใจมาจาก ความประทับใจในธรรมชาติ จิตไร้สำนึกที่แสดงออกอย่างฉับพลัน และงานที่ถูกทำแล้วทำอีกเป็นเรื่องราวที่อวดภูมิปัญญา สิ่งนี้เขาเรียกว่า องค์ประกอบ
ศิลปะ ดาดา
ดาดาอิสม์ เป็นศิลปะอีกกลุ่มหนึ่งที่มีปฏิกิริยาต่อต้านคัดค้านศิลปกรรมเก่า ๆ ในอดีต พวกเขาคิดว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีจิตใจคับแคบ ดังนั้นต้องสร้างสรรค์งานแนวใหม่ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับศิลปะแบบเก่า
แนวความคิดของกลุ่มนี้อยู่บนพื้นฐานทางอามรณ์ อันต้องการปลดเปลื้องความคิดผิด ๆ แบบเก่าให้หมดไป และเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมในสังคมและศิลปะวิทยา สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การแสดงออกของศิลปินกลุ่มนี้ออกไปทางแดกดัน เยาะเย้ย ถากถาง มองโลกในแง่ร้าย เห็นว่าโลกนี้เลว สมควรถูกทำลายได้แล้ว พวกเขาแนะให้มีการสร้างงานที่ผิดหลักความจริง สร้างศิลปะอยู่ที่การโกหก หลอกลวงเป็นสำคัญ
พวกเขาไม่เชื่อหลักตรรกวิทยา หากแต่ต้องการปลดปล่อยจิตไร้สำนึกให้แสดงพฤติกรรมอย่างอิสระเต็มที่ แม้ว่าจิตไร้สำนึกจะมีแนวโน้มเอียงไปในทางวิตถาร ดูพิลึก พิสดารก็ตาม พวกเขายังได้รับอิทธิพลมาจากพวกฟิวเจอริสม์ ในเรื่องของความเร็วและเครื่องจักรกลด้วย แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ ฟิวเจอริสม์ยังคงมีรูปแบบการแสดงออกแบบเก่า ส่วนพวกดาดาชอบการประชดประชัน ดูถูกเหยียดหยาม
ศิลปะ เซอร์เรียลลิสม์
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า เซอร์ กันมาบ้าง แต่งตัวเซอร์ ๆ ทำตัวเซอร์ ๆ อะไรทำนองนี้ คำว่าเซอร์ นี่ก็มาจากศิลปะแนวเซอร์เรียลิสม์ นี่เอง มีความหมายว่าเหนือความจริง เพราะศิลปะแนวนี้ถ่ายทอดเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในความฝันออกมา ว่ากันว่า ความฝันนั้นเป็นสิ่งที่จริงแท้เสียยิ่งกว่าความจริง เป็นสุดยอดของความเป็นจริง เซอเรียลิสม์ได้วิวัฒนาการมาจากพวกดาดาอิสม์ในเรื่องราวของการมองความจริงอันพิสดาร ศิลปินมองเห็นว่าโลกความเป็นจริงที่เห็นอยู่เป็นภาพมายาทั้งหมด (แต่กลับเห็นความฝันเป็นเรื่องจริง ออกจะสับสนอย่างไรไม่รู้)
นี่เป็นการเคลื่อนไหวของศิลปะแบบหนึ่ง ที่มีความคิดพ้องตามทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ว่า มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตไร้สำนึก ซึ่งเราฝังความอยากอันมิได้ขัดเกลาเอาไว้ จนเกิดทำให้รู้สึกว่าความป่าเถื่อนยังมิได้หายไปจากมนุษย์ หากแต่หลบอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ
งานเซอร์เรียลิสม์มีความสำคัญอยู่ที่ การแสดงออกของจิตใต้สำนึกอย่างอิสระ
ปราศจากการควบคุมของเหตุผล มีความฝันและอารมณ์ จินตนาการ ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางกามวิสัย หลักการของเซอร์เรียลิสม์ คือ จินตนาการเป็นส่วนสำคัญของการแสดงออก จินตนาการ    คือ จิตไร้สำนึก และจิตไร้สำนึกเป็นภาวะของความฝัน ที่มีขบวนการต่อเนื่องกันซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะได้ สิ่งที่เราเห็นจากโลกภายนอกขณะตื่น เป็นเพียงปรากฏการทางการแทรกแซง
ความงามของพวกเขาคือ ความมหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์เพียงอย่างเดียวที่สามารถสร้างศิลปะให้สมบูรณ์ได้ และยังให้ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหมายต่อความรู้สึกของมนุษย์
ศิลปะ ซูพรีมาตีสม์
รูปสี่เหลี่ยมสีขาว บนพื้นจัตุรัสสีขาว เพียงเท่านี้เองที่ผู้ชมต่างมองเห็น มันคืออะไร ภาพนี้ไม่ได้บอกเรื่องราวใด ๆ เลย ไม่มีสมุด ไม่มีต้นไม้ ไม่มีคน
ซูปรีมาติสม์ เป็นรูปแบบของศิลปะที่แสดงความรู้สึกบริสุทธิ์อย่างสูงส่ง ปรากฏเป็นศิลปะที่ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ ไม่คำนึงถึงรูปร่างแท้จริงของวัตถุที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา แต่คำนึงถึงความรู้สึกของวัตถุนั้น ๆ เป็นส่วนใหญ่ เมื่อไม่คำนึงถึงรูปร่าง เห็นว่ารูปร่างนั้นไม่แน่นอน การเขียนภาพจึงยึดบริเวณว่างเป็นหลัก เรื่องราวที่แสดงจะเกี่ยวกับอวกาศ แรงดึงดูด แม่เหล็กไฟฟ้า เรขาคณิต ทิศทาง และลักษณะพื้นผิว
Kashmir Malevich เป็นศิลปินผู้วางแนวทาง เขาวางทฤษฎีไว้ว่า กำหนดวิธีเขียน และกรรมวิธีอื่น ๆ อยู่ในรูปทรงเรขาคณิตแบบง่าย เช่นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม หรือกากบาท ศิลปินยึดหลักที่ว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลก ไม่มีความหมายในตัวเองเลย จุดสำคัญส่วนใหญ่คือ ความรู้สึกของผู้ดูเมื่อพบสิ่งต่าง ๆ ในโลกรอบ ๆ ตัวต่างหาก ความรู้สึกนี้จะปรากฏเด่น สร้างความคิดสร้างสรรค์ สะเทือนใจมนุษย์มากกว่ารูปร่างของวัตถุนั้นๆ
ศิลปะสมัยก่อน เป็นศิลปะที่สอนคนส่วนใหญ่ มีความมุ่งหมายเพื่อสนองความไม่อุ่นใจของมนุษย์ แต่ซูปรีมาติสม์เป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับโลกแห่งความรู้สึก ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลจะพึงใช้ความรู้สึกของตนสร้างความสดชื่นให้ชีวิต
ดังนั้นภาพ Suprematism ผู้ชมต้องปล่อยความคิดให้มีอิสรเสรี สร้างความรู้สึกร่วมไปกับมัน
การตีความภาพนั้นขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาและประสบการณ์ของตน ผู้ชมจะไม่ถูกบังคับให้ต้องเห็นอย่างที่ศิลปินอยากให้เห็น ศิลปินจะปล่อยให้ผู้ชมมองเห็นได้อย่างเสรีโดยไม่มีการครอบงำความคิดจากรูปทรงวัตถุ

ศิลปะ ป๊อป อาร์ต
ศูนย์กลางความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมอยู่ที่ยุโรปยาวนานร่วม ๆ พันปี นับตั้งแต่ยุคกลางมา แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 20 ฝั่งเอมริกาก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และวัฒนธรรมของอเมริกาก็ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด เป็นสื่อนำ ภาพยนตร์นี้ก่อให้เกิดดารา แฟชั่น การโฆษณา และเพลงประกอบ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนรุ่นใหม่ไปทั่วทั้งโลก
ป็อบอาร์ตถือกำเนิดขึ้น ป็อบอาร์ต เป็นแบบอย่างของศิลปะที่สะท้อนพลังสภาพแท้จริงของสังคมปัจจุบัน ตามความรู้สึกความเข้าใจของสามัญชนทั่วไป ในชั่วขณะหนึ่ง เวลาหนึ่ง เป็นศิลปะที่เกี่ยวกับความชุลมุนวุ่นวายของสังคม พลุ่งประดุจพลุ ชอบวันนี้ พรุ่งนี้ลืมอะไรทำนองนี้
กลุ่มศิลปินที่สร้างสรรค์งานชนิดนี้เชื่อว่า ศิลปะสร้างขึ้นจากสิ่งสัพเพเหระ ของชีวิตประจำวัน เป็นการแสดงความรู้สึกของประสบการณ์ที่พบเห็นของศิลปินในช่วงเวลานั้น ขณะนั้น ณ ที่แห่งนั้น
เรื่องราวที่ศิลปินนำเสนอมีแตกต่างกันไป เช่นบางคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ดารายอดนิยม บ้างก็เขียนเรื่องเครื่องจักร บ้างก็เขียนภาพโฆษณา เรื่องง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัวจึงทำให้หลาย ๆ คนเห็นว่างานแนวนี้ไม่ควรค่าแก่คำว่าศิลปะ เพราะมันเป็นความนิยมแค่ชั่ววันชั่วคืน ตื่นเต้นฮือฮาพักหนึ่งก็จางหาย
อย่างไรก็ตามกลุ่มที่นิยมในแนวนี้ก็ยังคงยืนยันว่ามันคือศิลปะ เขาอ้างว่า สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะแน่นอน เพราะผลงานนั้นกระตุ้นให้เราตอบสนองทางความรู้สึกอย่างนั้น ที่จริงแล้ว สิ่งที่เรารู้ว่าเป็นศิลปะ คือ สิ่งที่ศิลปินสร้างสรรค์ พวกเขามีความเชื่อเกี่ยวกับสุนทรียภาพว่า สุนทรียภาพ คือความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับสภาพต่าง ๆ ที่ปรากฏในโลกของอุตสาหกรรม โลกชนบท และโลกเศรษฐกิจ ศิลปินพยายามตอบสนองโลกที่แวดล้อมภายนอกเหล่านี้โดยแสดงความรู้สึกด้วยภาพ ซึ่งใช้วิธีการของแอบแสตรกบ้าง เอ็กซเพรสชั่นนิสม์บ้าง คิวบิสม์บ้างตามความเหมาะสม


ศิลปะ อ๊อป อาร์ต
ศิลปะอ๊อปอาร์ต เป็นศิลปะที่มุ่งถึงสายตา การมองเห็น เรื่องตาเป็นเรื่องสำคัญของศิลปะแบบนี้ การรับรู้ทางตา เป็นปัญหาที่พยายามค้นคว้ากันอยู่เสมอ นักจิตวิทยาบางคนพยายามที่จะทดลองหาข้อเท็จจริงว่า ตาหรือสมองกันแน่ ที่เป็นสื่อกระตุ้นประสาทการรับรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยพยายามที่จะหาข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเห็น การคิด ความรู้สึกและความจำ แต่ก็ไม่สามารถวิเคราะห์ออกจากกันได้ว่าอันไหนสำคัญกว่า
เมื่อยังหาข้อสรุปไม่ได้ ว่าตาหรือสมองสำคัญกว่ากัน ศิลปินอ๊อปอาร์ต จึงเลือกเชื่อตามความคิดของตนว่า ตามีความสำคัญกว่า เน้นการเห็นด้วยตา เป็นข้อสมมติฐานในการแสดงออกทางศิลปะ แนวคิดของงานอยู่บนความเชื่อที่ว่า จิตรกรรมประกอบด้วยเส้น และสี ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ เส้นและสีต้องมีการแสดงออกอย่างเสรี โดยไม่เลียนแบบธรรมชาติ เส้นและสีต้องมีความกลมกลืนกัน
จิตรกรรมปรากฏบนระนาบผิวหน้าของผ้าใบ ซึ่งเป็นบริเวณที่รวบรวมรูปแบบและความรู้สึกของจิตรกรรม ดังนั้นระนาบผิวหน้าจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องไม่ลอกเลียนแบบธรรมชาติไม่ลอกเลียนวิชา เปอร์สเปคตีฟ (เป็นเรื่องของเส้นสายตาที่มองใกล้ ไกล สิ่งที่อยู่ใกล้ใหญ่ สิ่งที่อยู่ไกลเล็กเป็นต้น) แต่จะต้องรู้สึกตื้นลึกด้วยตัวมันเอง
ศิลปินที่พยายามแสดงความรู้สึกของตนอย่างเสรี จะยึดรูปทรงง่าย ๆ เป็นหลัก ยิ่งง่ายยิ่งเป็นสากล สียิ่งบริสุทธิ์ก็ยิ่งเป็นสากล สีที่บริสุทธิ์คือแม่สีเบื้องต้นที่ไม่ได้เกิดจากการผสมจากสีอื่น
อ๊อปอาร์ตได้รับอิทธิพลจากกลุ่มฟิวเจอริสม์ ซึ่งย้ำเน้นถึงความเคลื่อนไหว ความเร็ว และวิทยาศาสตร์แขนงฟิสิกส์เป็นอันมาก อ๊อปอาร์ดจะเน้นความเคลื่อนไหวของรูปแบบให้เป็นจิตรกรรม โดยวิธีการซ้ำๆกันของส่วนประกอบทางศิลปะ เพื่อให้ผู้ดูตระหนักในความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบศิลปะที่สะท้อนภาพสังคมปัจจุบัน
แบบอย่างของอ๊อปอาร์ดนอกจากจะเป็นจิตรกรรมแล้ว ในวงการอุตสาหกรรมแบบอย่างของออปอาร์ตก็มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันอยู่มาก ในรูปแบบของลายผ้า การตกแต่ง เวที การจัดร้านต่างๆเป็นต้น
ศิลปะยังคงดำเนินต่อไปอย่างสอดคล้องต่อชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลง คือ นิรันดร์ การจะโหยหาให้อนุรักษ์แต่ของดั้งเดิมอย่างไม่ลืมหูลืมตานั่นเพราะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะ หากจะอนุรักษ์แบบนั้นก็ต้องอนุรักษ์วิถีชีวิตด้วย เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน ศิลปะจะไม่เปลี่ยนได้อย่างไร มันผิดหลักธรรมชาติของมนุษย์ ปัญหาจึงอยู่ที่จะปรับเปลี่ยนศิลปะไปในทิศทางใด เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างดีที่สุดต่างหาก